Home » แฟ้มข่าว อสังหาริมทรัพย์ » ฟองสบู่อสังหาฯ-มาตรการรับมือ

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ฟองสบู่อสังหาฯ-มาตรการรับมือ

posttoday.com   08 พฤศจิกายน 2553  โดย...ทีมข่าวการเงิน

รับมือมาตรการคุมฟองสบู่อสังหาฯ

            สถานการณ์ของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้ ต้องถือว่า ล่อแหลม จนทำให้ใจเต้นตุ๊มๆ ต้อมๆ และต้องศึกษาหาวิธีรับมือ

         เพราะการออกมาส่งสัญญาณของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังจะมีปัญหาฟองสบู่แล้ว!

         เนื่องจากมีแนวโน้มว่า จะเกิดภาวะจำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์มีมากเกินกว่าความต้องการจริงในบางระดับราคาและในบางพื้นที่ จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมมาตรการป้องกันไว้

         เป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาท เพราะการออกมาพูดชัดๆ ในที่สาธารณะของผู้บริหารธนาคารกลางในเรื่องเหล่านี้ คือ การบอกสัญญาณตรงๆ โต้งๆ ให้เอกชนมีการปรับตัว

         ถ้าคนระดับ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และเป็น 1 ใน กนส. ออกมาบอกชัดขนาดว่า จะมีการเสนอ ธปท. ให้พิจารณาเรื่องการปรับหลักเกณฑ์สำหรับปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจปรับสัดส่วนวงเงินกู้ต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value : LTV) ให้เข้มข้นขึ้น เพื่อดูแลไม่ให้การปล่อยกู้ด้านนี้มากจนเกินไป

ใครที่ชะล่าใจไม่มีการปรับตัว และมัวแต่ยืนยันในแนวคิดว่า ยังไม่มีภาวะฟองสบู่เกิดขึ้นในธุรกิจนี้ จากนั้นจึงหันไปทำธุรกิจตามปกติเมื่อถึงเวลานั้นอาจขยับตัวได้ลำบากแน่

ทำไมจึงวิเคราะห์ได้เช่นนี้...

หนึ่ง สัญญาณเกิดโอเวอร์ซัพพลายของอสังหาริมทรัพย์ได้เกิดขึ้นมาแล้วในบางพื้นที่ โดยในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา มีโครงการเกิดใหม่จำนวนมาก เปิดขายมากถึงกว่า 9 หมื่นยูนิต  แยกเป็น คอนโดมิเนียม 5.3 หมื่นยูนิต โครงการแนวราบ 4 หมื่นยูนิต

ต.ค. เดือนเดียวมีโครงการเปิดตัวใหม่สูงถึง 30 โครงการ เป็นคอนโด 20 โครงการ แนวราบอีก 10 โครงการ ปริมาณที่มากมายเช่นนี้สะท้อนถึงความเกินเลยไปของตลาดที่ร้อนเกินเหตุ

สอง ข้อมูลของสมาคมอาคารชุดไทยก็ระบุชัดเจนว่า ปัจจุบันปริมาณหรือที่อยู่อาศัยในกลุ่มของคอนโดมิเนียมมีสูงกว่าความต้องการของผู้บริโภคอยู่ 10-15% และมีคอนโดมิเนียมที่ว่างอยู่ 25%

สาม คอนโดมิเนียม บ้านที่สร้างเสร็จในขณะนี้ มีจำนวนผู้ซื้อ 60% เน้นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง อีก 20% ซื้อเพื่อเก็งกำไร   และอีก 20-30% ซื้อเพื่อการลงทุน

ขณะที่ข้อมูลบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ พบว่า คอนโดมิเนียมราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทมีปริมาณเกินความต้องการอยู่กว่า 25%

ประเด็นต่อมา กระทรวงการคลัง และ ธปท. เริ่มพบว่ามีเงินนอกเข้ามาลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านและคอนโดมิเนียมจำนวนมากในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา

ในจำนวนนั้นปรากฏว่า กว่า 25% มิใช่การซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และแนวโน้มว่าจะหันไปลงทุนในคอนโดมิเนียมแซงหน้าที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีลูกค้าในอัตราส่วน 20-25% ที่มีการจองเพื่อเก็งกำไรและทิ้งดาวน์ แม้จะยังไม่เกิน 50% ที่เป็นจุดอันตราย

แต่ภาพเหล่านี้สะท้อนว่า เริ่มมีการเก็งกำไรในธุรกิจนี้กันอย่างหนัก จนอาจทำให้เกิดฟองสบู่ได้

ถามว่าภาวะฟองสบู่คืออะไร คำตอบคือการที่ราคาสินทรัพย์สูงเกินความเป็นจริง เนื่องจากมีการเก็งกำไรกันมากเกินไป ไม่ใช่เกิดจากความต้องการของผู้บริโภค

การที่เงินทุนระสั้นจากต่างประเทศไหลเข้ามากินดอกเบี้ยแพงๆ ในประเทศไทย และเงินร้อนเหล่านี้เข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้น ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ จนก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ จึงถือว่าอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะขืนปล่อยออกไปให้มีการปั่นราคาอาจเกิดปัญหาราคาสินทรัพย์และหนี้ของคนในเมือง

หากฟองสบู่แตกเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ประชาชนที่หลงซื้อทรัพย์สินจะเดือดร้อน สถาบันการเงินก็พัง ธุรกิจก็ล้ม เพราะผลของการลงทุนที่มุ่งเน้นการเก็งกำไรจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยไม่ได้สนใจอุปสงค์ที่แท้จริงของการอยู่อาศัย

แม้นับจากปี 2544 เป็นต้นมา การพัฒนาคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่จะก่อสร้างตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน และพื้นที่ใกล้เคียงจะได้รับความนิยมจากผู้คนซึ่งสะท้อนภาพความต้องการที่แท้จริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีการปั่นราคา

ไม่เช่นนั้นคอนโดมิเนียมใจกลางเมืองที่เปิดขายระดับราคาตารางเมตรละ 7 หมื่นบาท แต่เพียงแค่ 1 ปี ราคาปรับขึ้นไปเป็นตารางวาละ 1.2 ล้านบาท คงจะไม่เกิดขึ้น

เช่นเดียวกับมาตรการดอกเบี้ย 0% นาน 12 ปี ที่กำลังระบาด หรือการปล่อยกู้ได้ 100% ก็เป็นมูลเหตุจูงใจให้มีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันมากขึ้นกว่าปกติ

สถานการณ์เช่นนี้จึงประเมินได้ว่า มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมากและส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในลักษณะของการสะสมที่ดินเพื่อหวังเก็งกำไร

หากจะสกัดกั้นการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์จนอาจทำให้ฟองสบู่แตกนั้น หนทางที่จะสกัดได้เท่าที่หน่วยงานของรัฐและ ธปท.ได้ศึกษาไว้มีหลายรูปแบบ

หนึ่ง ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ จะได้เพิ่มมูลค่าการก่อสร้าง หรือทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่จะขายสูงขึ้น

สอง กำหนดวงเงินการวางดาวน์การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมาใหม่ให้เข้มข้นกว่าเดิม

สาม กำหนดเพดานการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินจากปัจจุบันที่มีการห้ามปล่อยกู้เกิน 85-90% มาเป็นห้ามเกิน 70-80% เพื่อทำให้ผู้ซื้อหรือลงทุนเพื่อเก็งกำไรในเรื่องราคาต้องมีการหาเงินมาก้อนหนึ่งก่อนจะซื้อทรัพย์สิน ซึ่งจะทำให้ลดความเสี่ยงในธุรกิจนี้ลงไปได้ระดับหนึ่ง แม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการจะกระโดดเข้าไปรับภาระส่วนเกินจากการปล่อยกู้ก็ตาม แต่เมื่อมีมาตรการแบบนี้ย่อมทำให้มีการระมัดระวังขึ้น

สี่ จำกัดวงการปล่อยกู้หรือเพิ่มหลักทรัพย์การค้ำประกันของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นจากปกติ หรือมีการกำหนดฐานะการเงินมั่นคงและมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio : D/E Ratio) ให้อยู่ในสัดส่วนที่กำหนด

ห้า กำหนดกฎเกณฑ์ว่า ต้องมียอดขาย 30-40% จึงปล่อยเงินกู้ออกไป หรือมีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เป็นการตีกรอบให้ทุกคนทำธุรกิจอย่างมีเหตุมีผล และคำนึงถึงสัดส่วนหนี้สินต่อทุน

การออกมาแย้มไต๋ของ สาลินี วังตาล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตรวจสอบ 1 ธปท. ว่า ขณะนี้ ธปท. ไม่ได้ส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ แต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ธนาคารพาณิชย์คงต้องพิจารณาคุณภาพลูกหนี้อย่างรอบคอบ

แม้ ธปท. ไม่ต้องการบีบบังคับธนาคารพาณิชย์ แต่บางเรื่องต้องเข้าไปดูแล เช่น อาจจะปรับเรื่องวงเงินดาวน์เพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง ย่อมบ่งบอกได้ถึงวิธีคิดของธนาคารกลางได้ดีว่ากลัวฟองสบู่จะมารังควาน

การออกมาตรการเหล่านี้จึงเท่ากับรัฐต้องการจำกัดจำนวนผู้เล่นในตลาดลง และควบคุมผู้เล่นกับผู้ซื้อในตลาดให้อยู่ในกติกาที่รัฐต้องการควบคุมไม่ให้ความเสี่ยงและเชื้อร้ายของฟองสบู่แตก

posttoday.com   29 ตุลาคม 2553  โดย...ทีมข่าวการเงิน

ฟองสบู่เศรษฐกิจเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

กว่า 10 ปี ที่ไทยต้องเผชิญฝันร้ายจากสัญญาณฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่บทเรียนเหล่านั้นกลับไม่ได้ย้ำเตือนให้ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ และนักลงทุนรายย่อยที่ชอบเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์เข็ดขยาด

หรืออีกอย่างสัญญาณเหล่านี้เริ่มส่อเค้าลางให้เห็น แต่ไม่มีใครอยากเข้าไปแตะ ไม่กล้าออกมาพูด มีเพียง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เริ่มตั้งคำถามนี้ในเวทีสัมมนาความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยกับการเติบโตของจีดีพีปี 2554 โดยเริ่มมองเห็นสัญญาณฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพียงแต่ยังไม่ถึงขั้นรุนแรง

ที่อดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวนั้น เป็นเพราะเห็นว่ามีเงินต่างชาติไหลเข้ามามากกว่าแสนล้านบาทในเวลาไม่ถึงปี ดันให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยก็ทะลุ 1,000 จุดไปได้อย่างรวดเร็ว ท่ามกลางความดีอกดีใจของนักลงทุน

นายปิยะ ซอโสตถิกุล กรรมการบริหารเครือซีคอน ยอมรับว่า ขณะนี้ประเทศกำลังอยู่ในภาวะฟองสบู่จากภาคอสังหาริมทรัพย์มาแล้ว 6 เดือน แต่หลายฝ่ายยังไม่ออกมายอมรับ จากตัวเลขสต๊อกบ้านคงค้างในปัจจุบันรวมกับบ้านที่มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 2 ปีนี้ มีจำนวนมากกว่า 4 แสนยูนิต ในจำนวนนี้เป็นคอนโดมิเนียมถึง 60% ซึ่งหากนับเฉพาะสิ้นปีนี้จะมีสต๊อกบ้านเหลือถึง 1.5 แสนยูนิต ถือเป็นจำนวนสูงสุดตั้งแต่เกิดวิกฤตฟองสบู่ปี 2540 ทั้งที่แต่ละปีจะมีความต้องการซื้อบ้านประมาณ 7 หมื่นยูนิต

จำนวนสต๊อกบ้านคงค้างรวมกับที่มีกำหนดก่อสร้าง 4 แสนยูนิตนั้น หากต้องการระบายสต๊อกให้หมดโดยที่ยังไม่สร้างของใหม่ จะต้องใช้เวลาถึง 45 ปี ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องยากที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะหยุดการก่อสร้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะมีแรงกดดันขยายยอดขาย แม้จะรู้ว่าความต้องการซื้อ (ดีมานด์) ขณะนี้น้อยกว่าความต้องการขาย (ซัพพลาย) ที่มีอยู่

ยิ่งตลาดคอนโดมิเนียมยิ่งอันตราย เพราะหากเริ่มก่อสร้างแล้วจะหยุดก่อสร้างไม่ได้ เช่น สร้างไปแล้ว 15 ชั้น ก็ต้องสร้างจนจบ ต่างจากโครงการแนวราบ ถ้าเห็นทิศทางไม่ดีก็หยุดก่อสร้างได้

ฉะนั้นเมื่อซัพพลายหยุดไม่ได้ ก็จะเกิดวงจรอุบาทว์ นักเก็งกำไรทิ้งเงินดาวน์ คนซื้อจริงชะลอการซื้อ เพราะรอของถูก ส่วนผู้ประกอบการก็แข่งขันกันลดราคา ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลทางจิตวิทยาด้วย

นายปิยะ มองว่า ฟองสบู่น่าจะแตกภายในไตรมาสสุดท้ายปี 2554 แต่คำว่าแตกในที่นี้มีหลายระดับ การแตกครั้งนี้ไม่เหมือนปี 2540 เพียงแต่จะเป็นฟองสบู่ที่แตกแบบร้ายแรงกว่าที่คาดไว้ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ที่ประสบปัญหาฟองสบู่ และต้องใช้วิธีลดราคาที่อยู่อาศัย 1020% จึงจะเกิดการซื้อขายกลับมาใหม่ แต่ช่วงระยะเวลาที่ฟองสบู่แตกนั้น ผู้ประกอบการก็จะหยุดสร้าง ไม่ขยายโครงการ ขายสต๊อกเดิม ทำให้ดีมานด์และซัพพลายกลับเข้าสู่สมดุลอีกครั้ง แต่การฟื้นตัวจะต้องใช้เวลาถึง 12 ปี ถือว่าน้อยกว่าวิกฤตเดิมที่กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต้องใช้เวลา 45 ปี

“ตอนนี้สต๊อกบ้านค้างสูงสุดตั้งแต่เกิดวิกฤต ยอดที่มีอยู่มีมากกว่าดีมานด์ 2 เท่า ฉะนั้นตอนนี้จะมีสต๊อกเหลือเยอะมาก คู่แข่งก็จะดัมพ์ราคากัน ธนาคารก็เริ่มไม่กล้าปล่อยกู้โครงการ นี่คือวงจรอุบาทว์ ที่แต่ละคนยังไม่ยอมรับความจริง ทุกภาคส่วนยังมองว่าอสังหาริมทรัพย์ปกติอยู่ ทั้งที่เราอยู่ในฟองสบู่แล้ว แต่ละโครงการขายช้าลง มีการแจกแถมมากขึ้น บางโครงการให้ฟรี 2 ปีด้วยซ้ำ นี่คืออาการที่เริ่มเห็นชัดเจน” นายปิยะ กล่าว

ขณะเดียวกันกลยุทธ์การตลาดคอนโดมิเนียมที่ใช้วิธีดาวน์ต่ำ ผ่อนน้อย ก็ยิ่งสร้างความเสี่ยงให้เกิดขึ้น เพราะคนเก็งกำไรจะมองว่า ใส่เงินลงไปไม่มาก แต่ขายกระดาษแล้วมีกำไร ก็ยิ่งเกิดการทิ้งโครงการ แต่สำหรับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนั้น แม้ต่อไปจะเกิดปัญหา แต่บริษัทจะไม่ถึงขั้นเจ๊ง เนื่องจากทุนหนา สัดส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำ เพียงแต่จะกระทบกำไร ทำให้มีกำไรน้อยลง
ส่วนคอนโดมิเนียม เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนละแวกถนนสาทร สีลม ลุมพินี ก็ประสบปัญหาขายไม่ออกเหมือนกัน ยังไม่นับรวมบริเวณสุขุมวิท ที่คอนโดมิเนียมผุดขึ้นหลายโครงการแต่ยังขายไม่หมด และคอนโดมิเนียมในพื้นที่เจาะกลุ่มต่างชาติ ทั้งพัทยา หัวหิน ภูเก็ต เชียงใหม่ ที่กำลังซื้อจากลูกค้าต่างชาติลดน้อยลง เพราะพิษสงค่าเงินบาท ผู้ซื้อจะมองว่าโครงการมีราคาแพงขึ้น

นายปิยะ บอกว่า หากคอนโดมิเนียมแย่ ก็จะส่งผลต่อโครงการแนวราบชะลอตัวไปด้วย ซึ่งหากอสังหาริมทรัพย์ทำท่าไม่ดีก็จะลามไปกันทั้งระบบ ฉะนั้นขณะนี้ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาท ส่งสัญญาณให้ชัดว่าสถานการณ์ปัจจุบันเกิดอะไรขึ้น เพราะผู้บริโภคยังไม่ได้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง อย่างจีนก็ใช้วิธีแก้ปัญหาฟองสบู่ด้วยการคุมไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้บ้านหลังที่ 3 วงเงินเกิน 50% จากเดิมซื้อกัน 56 ยูนิต
ด้านนายอภิชาติ อรรฆย์ฐากูร ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสินเชื่อเคหะ ธนาคารนครหลวงไทย ยอมรับว่า ขณะนี้ตลาดคอนโดมิเนียมเริ่มเกิดปัญหาความต้องการขายที่มากกว่าความต้องการซื้อ จำนวนสต๊อกคอนโดมิเนียมเริ่มมีมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าฟองสบู่ ซึ่งปีหน้าจะเป็นปีที่คอนโดมิเนียมจะมีมากกว่าจำนวนคนซื้อ

หน้าที่ของธนาคารในตอนนี้จึงดูแลการปล่อยกู้โครงการ โดยพิจารณาโครงการเป็นรายๆ ว่าสร้างมากเกินไปหรือไม่ เป็นการแตะเบรกความร้อนแรงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นกลไกที่ธนาคารเริ่มเข้มงวดมากขึ้น

“โพสต์ไฟแนนซ์ยังไม่เท่าไร ถ้ามีความต้องการซื้อจริง หรือถ้าเป็นนักลงทุนบ้างก็ไม่น่าห่วง เพราะเป็นการลงทุนเพื่อออมเงิน แล้วพวกเก็งกำไรจะไม่กู้ธนาคารอยู่แล้ว พวกนี้จะขายก่อนโอน ตลาดโพสต์ไฟแนนซ์จึงไม่น่ากลัว ที่ดูคือ พรีไฟแนนซ์มากกว่า” นายอภิชาติ กล่าว

จากนี้ถึงสิ้นปีหน้าจึงเป็นช่วงที่ต้องจับตาโครงการอสังหาริมทรัพย์อาจล้มยกยวง วิกฤตฟองสบู่กำลังบ่มรอการฟักตัวและแตกในเวลาอันใกล้ จากความต้องการอยากขาย แต่ไม่มีคนซื้อ
สำหรับด้านตลาดหุ้นนั้น แหล่งข่าวจากสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ มองว่า ตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะกระทิง แต่ยังไม่ได้เกิดการปั่นจนเกิดฟองสบู่ ราคาหลักทรัพย์หลายตัวเพิ่มขึ้นตามผลประกอบการที่ได้ประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัว

หุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นหุ้นพื้นฐาน เช่น หุ้นกลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งขึ้นมาเพราะมีกำไรดี

“การที่ไม่มองว่าตลาดหุ้นไทยจะเกิดฟองสบู่ ก็เพราะเงินต่างชาติที่ไหลเข้ามานั้นส่วนใหญ่เป็นเงินที่มาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ประมาณ 80% ลงทุนในหุ้นและตลาดเงิน 20% เท่านั้น และช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยตกต่ำมากเพราะเกิดปัญหาการเมือง สัญญาณฟองสบู่ในตลาดหุ้นจึงยังไม่มี” แหล่งข่าวเปิดเผย

แม้ตลาดหุ้นไทยจะยังไม่เกิดฟองสบู่ในขณะนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดฟองสบู่ในอนาคต หากไม่ระมัดระวัง ส่วนอสังหาริมทรัพย์นั้นสัญญาณเริ่มมาแล้ว

นี่อาจจะเป็นฝันร้ายรอบที่สอง หากผู้ดำเนินนโยบายไม่ตระหนักและไม่เชื่อว่าจะมีฟองสบู่ในภาวะเศรษฐกิจไทย มัวแต่ตั้งรับแทนที่จะคิดหาวิธีแก้ไขไว้ก่อน หากเกิดขึ้นจริง อาจจะแก้ไขปัญหาไม่ทัน เข้าข่าย วัวหายแล้วล้อมคอก