Home » แฟ้มข่าว อสังหาริมทรัพย์ » ทางตัน "เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์" ลูกค้าหด-ติดเดดล็อก กม.คุมอาคาร

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ทางตัน "เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์" ลูกค้าหด-ติดเดดล็อก กม.คุมอาคาร

ทางตัน "เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์" ลูกค้าหด-ติดเดดล็อก กม.คุมอาคาร

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4245  ประชาชาติธุรกิจ

 

ธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ที่เคยบูมสุดขีดเมื่อหลายปีก่อนกำลังเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงหลายด้าน เพราะนอกจากลูกค้าหลักซึ่งเป็นกลุ่มต่างชาติจะลดน้อยลงจากปัญหาวิกฤตการเงินโลก และความไม่มั่นใจกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยแล้ว ยังเจอทางตันปมปัญหาข้อกฎหมาย คือพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 ที่แม้เจตนาเดิมจะเปิดกว้างให้เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ที่ต้องการให้บริการลูกค้า เข้าพักแบบรายวันสามารถเข้ามาอยู่ในระบบโรงแรมได้ แต่เอาเข้าจริงกลับติดล็อก

เนื่องจากเป็นไปได้ยากที่จะปรับปรุงอาคารให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ทางออกจึงมีอยู่ทางเดียวคือ อยู่นอกระบบโรงแรมเหมือนเดิม ซึ่งมีข้อจำกัดในการให้บริการลูกค้า เพราะจะให้บริการได้เฉพาะกลุ่มที่เช่าพักอาศัยแบบรายเดือนหรือไม่น้อยกว่า 30 วันขึ้นไป

"ธนินทร์ นนนที" ผู้จัดการทั่วไป โครงการเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ "ศิริสาทร" ศาลาแดงซอย 1 กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังเดือนพฤษภาคม 2547 หรือเมื่อ 6 ปีก่อน ภาครัฐออก พ.ร.บ.โรงแรมฯ และเปิดโอกาสให้โครงการเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ที่ต้องการมีสถานะประกอบกิจการได้เทียบเท่าโรงแรม คือมีสิทธิ์รับลูกค้าเข้าพักแบบรายวัน โดยยื่นคำขออนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม จากกรมการปกครอง ทั้งนี้ภายหลังการยื่นคำขอโครงการเหล่านั้นจะมีสิทธิ์รับลูกค้ารายวันจนกว่าจะได้รับแจ้งว่าไม่สามารถอนุมัติใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมให้ได้

ขณะนี้เป็นไปได้สูงที่เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ทั่วประเทศที่ยื่นคำขอไว้ประมาณ 200 ราย จะไม่ได้รับอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมเกือบทั้งหมด

สาเหตุมาจาก 1) ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (ใบ อ.1) สูญหาย แม้ก่อนหน้านี้ภาครัฐได้อนุโลมให้ใช้ใบ ร.1 (ใบรับรองความปลอดภัยในอาคาร 1) แทน แต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า ไม่สามารถใช้ใบ ร.1 ทดแทนได้อีก และ 2) ประสบปัญหาในการปรับปรุงแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 อาทิ เรื่องระยะถอยร่น จำนวนที่จอดรถ เป็นต้น

"ตอนแรกทุกคนต่างมีความหวัง แต่พอมาดูเรื่องข้อกฎหมาย ถ้าเป็นโครงการเก่าทุกรายจะติดล็อกเรื่องข้อกำหนดระยะถอยร่นอาคารจากถนน และสิ่งปลูกสร้างโดยรอบ 6 เมตรเหมือนกันหมด เพราะโครงการส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่ว่างโดยรอบเป็นระยะถอยร่นตามที่กฎหมายกำหนด"

สถานภาพผู้ประกอบธุรกิจเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์เวลานี้เลยเสมือนเจอทางตัน เพราะไม่มีสิทธิ์ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมและรับลูกค้ารายวันอีกต่อไป

จ่อเลย์ออฟพนักงาน

ผลกระทบจากที่ต้องหยุดรับลูกค้ารายวันถือเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งของธุรกิจนี้ เพราะที่ผ่านมาโครงการส่วนใหญ่มีสัดส่วนลูกค้ารายวันเข้าพักประมาณ 20% การสูญเสียรายได้ส่วนนี้ไปถือว่ามีผลกระทบค่อนข้างมาก คงไม่มีโครงการใดเสี่ยงรับลูกค้ารายวัน เพราะพ.ร.บ.โรงแรมฉบับใหม่มีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนรุนแรงขึ้น ปรับสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และโทษจำคุก 3-6 เดือน ซึ่งเจ้าของกิจการก็ถือว่ามีความผิดต้องได้รับโทษด้วย 

"ธนินทร์" กล่าวว่า หากโครงการ "ศิริสาทร" ได้รับแจ้งว่าไม่สามารถออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมได้ ต้องหาวิธีลดค่าใช้จ่ายโดยปรับลดพนักงานส่วนบริการห้องพักลง 50% จากปัจจุบันมีพนักงานรวม 100 คน เป็นพนักงานส่วนบริการห้องพัก 20 คน และปรับลดราคาห้องพักแบบรายเดือนลง จากปัจจุบันค่าเช่าเฉลี่ย 80,000-90,000 บาท/เดือน อาจต้องปรับลงเหลือ 50,000-60,000 บาท/เดือน หรือลดลงกว่า 30% เพื่อให้สามารถแข่งกับโครงการอพาร์ตเมนต์ได้ 

"สถานการณ์ธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ตอนนี้ถือว่าแย่อยู่แล้ว โดยเฉพาะโครงการในทำเลสาทร-สีลม เพราะได้รับผลกระทบจากเหตุจลาจลทางการเมือง ปัจจุบันโครงการมีอัตราเข้าพักลดลงเหลือ 50% เท่านั้น จากปลายปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 70% ถ้าต้องหยุดรับลูกค้ารายวันด้วย ผลกระทบต่อรายได้จะมีมากขึ้น"

เกือบ 100% ไม่ได้ใบอนุญาตโรงแรม

ด้าน "อมรฤทธิ์ เอมะปาน" ผู้อำนวยการส่วนรักษาความสงบเรียบร้อย 3 (รับผิดชอบงานโรงแรมและงานสถานประกอบการ) สำนักงานสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมได้รับคำยื่นขอออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมจากผู้ประกอบการเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์รวมแล้วกว่า 200 โครงการ แต่จากการตรวจสอบหลักฐานพบว่าไม่สามารถออกใบอนุญาตได้เกือบทั้งหมด เนื่องจากเอกสารหลักฐานไม่ครบ โดยเฉพาะใบ "อ.5" (แบบใบอนุญาตเปลี่ยนแปลงการใช้อาคาร) มี 2-3 โครงการเท่านั้นที่อยู่ระหว่างพิจารณาออกใบอนุญาต

"ขณะนี้ทยอยแจ้งผู้ประกอบการ 7-8 รายแล้วว่า ไม่สามารถออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมให้ได้ คาดว่าจะแจ้งให้ทราบครบทุกรายภายในสิ้นปีนี้"

แม้โครงการเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์เกือบทั้งหมดกำลังเจอทางตัน แต่ในทางปฏิบัติถือว่ายังพอมีวิธีต่อสู้ได้ หลังจากได้รับแจ้งจากกรมการปกครองแล้วภายใน 15 วัน (นับจากวันที่เซ็นรับเอกสาร) สามารถยื่นคำขอทุเลาการบังคับคดีต่อคณะกรรมการส่งเสริมการประกอบธุรกิจโรงแรม กรมการปกครองได้ และหากคณะกรรมการมีมติยกคำร้องก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งจะมีสิทธิ์รับลูกค้ารายวันได้ชั่วคราวจนกว่าศาลปกครองจะมีมติยกคำร้อง

หน้า 9

http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02rea06160953&sectionid=0217&day=2010-09-16