Home » อสังหาฯ บ้าน คอนโด ที่ดิน » หลักการสุขาภิบาล ที่อยู่อาศัย

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
หลักการสุขาภิบาล ที่อยู่อาศัย

การสุขาภิบาล ที่อยู่อาศัย

1. แนวคิด

2.  บทนำ
    •  นิยามศัพท์
    •  ลักษณะที่อยู่อาศัย
    •  ความสำคัญของที่อยู่อาศัย
    •  ความจำเป็นที่ต้องจัดการ สุขาภิบาลที่อยู่อาศัยและสถาบัน
    •  ปัญหาและอุปสรรค ในการดำเนินการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย และสถาบัน
    •  ข้อจำกัด ในการจัดการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัยและสถาบัน ให้มีความเหมาะสม

3. หลักการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย
    •  ความต้องการพื้นฐานทางด้านร่างกาย
    •  ความต้องการพื้นฐานทางด้านจิตใจและสังคม
    •  การป้องกันโรคติดต่อ
    •  การป้องกันอุบัติเหตุ

  แนวคิด                                                                                                          

           1. การสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย เป็นการจัดการและควบคุมดูแลที่อยู่อาศัยหรือสถาบันให้สะอาดถูกสุขลักษณะ โดยจัดการให้ได้ตามความต้องการขั้นมูลฐานทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ การป้องกันโรคติดต่อ รวมทั้งก่อให้เกิดความปลอดภัยจากอุบัติเหตุแก่ผู้พักอาศัยหรือผู้ใช้บริการ

       
    2. หลักการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย ควรจัดให้เป็นไปตามความต้องการขั้นพื้นฐานของบ้านพักอาศัย โดยจัดให้มีลักษณะเป็นไปตามความต้องการทางสรีรวิทยา ความต้องการด้านจิตใจ การป้องกันโรคติดต่อ ตลอดจนการป้องกันอุบัติเหตุภายในบ้านพักอาศัย

 

  บทนำ                                                                                                             

         ที่อยู่อาศัยถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการดำรงชีพของมนุษย์ เพราะชีวิตของมนุษย์ส่วนใหญ่ เวลาสองในสามของแต่ละวัน มักจะใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านพักอาศัย ทั้งการพักผ่อนหลับนอน และการทำกิจกรรมต่างๆ ภายในครอบครัว ส่วนเวลาที่เหลือเป็นเวลาของการทำงานหรือทำกิจกรรมในสถานที่อื่นๆ ดังนั้น จึงนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะขาดเสียมิได้ เพราะเป็นสถานที่ที่มีประโยชน์ในการป้องกันความร้อน ความหนาว แดด ลม ฝน ตลอดจน ป้องกันสัตว์และแมลงมารบกวน แต่การมีบ้านพักอาศัยนั้น จำต้องคำนึงถึงคุณภาพในหลายๆ ด้าน ให้มีสภาพที่เหมาะสมต่อการพักอาศัยด้วย คือ จะต้องเป็นบ้านที่ถูกสุขลักษณะ

1. นิยามศัพท์

          ที่อยู่อาศัย หมายถึง อาคารบ้านเรือน รวมถึงตึก โรง และแพที่มนุษย์จัดสร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยทั้งกลางวันและกลางคืน ภายในที่อยู่อาศัยประกอบด้วยสิ่งต่างๆ ที่ต้องการ มีทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย อุปกรณ์และสิ่งใช้สอยที่จำเป็นตามความต้องการทางด้านร่างกาย จิตใจ และความเป็นอยู่ที่ดีงามทั้งส่วนตัว และครอบครัวของผู้พักอาศัย

          สถาบัน หมายถึง อาคารสถานที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นที่ทำการ ซึ่งกำหนดให้เป็นที่ชุมนุมได้ทั่วไป จึงเป็นอาคารที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน หรือสถานที่ศึกษา หอประชุม โรง - มหรสพ โรงพยาบาล โรงแรม และเรือนจำ เป็นต้น

          การสุขาภิบาลที่อยู่อาศัยและสถาบัน หมายถึง การจัดการและควบคุมดูแลที่อยู่อาศัยหรือสถาบันให้สะอาดถูกสุขลักษณะ โดยจัดการให้ได้ตามความต้องการขั้นมูลฐานทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ การป้องกันโรคติดต่อ และจัดให้ปลอดภัยจากการเกิดอุบัติเหตุแก่ผู้พักอาศัยหรือผู้ใช้บริการด้วย

          Housing Sanitation หมายถึง การปรับปรุงบ้านและบริเวณให้ถูกหลักสุขาภิบาลเพื่อเป็นการป้องกันโรคติดต่อ ป้องกันอุบัติเหตุอันอาจเกิดขึ้นได้ และเป็นการเสริมสร้างสุขภาพอนามัยและสุขนิสัยให้รู้จักการทำความสะอาดบ้านเรือน

          Housing หมายถึง การจัดการที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ

          Residential Environment หรือ Housing หมายถึง โครงสร้างทางกายภาพที่มนุษย์ใช้อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่ภายในโครงสร้างดังกล่าว รวมถึง เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์  เครื่องบริการ และอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เป็นความต้องการของมนุษย์ที่พักอาศัยในโครงสร้างดังกล่าว หรือเพื่อความต้องการให้บุคคลและครอบครัวที่อยู่อาศัยมีสุขภาพดี ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ รวมถึง การดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ด้วยดี

2. ลักษณะที่อยู่อาศัย

          ที่อยู่อาศัยในปัจจุบันมีอยู่หลายลักษณะ โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ตึกแถว (shop house) เรือนแถว ห้องแถว ทาวน์เฮาส์ (town house) ห้องชุด (flat) หรืออาคารชุด (condominium) ไม่ว่าจะถูกเรียกอย่างไรก็ตาม แต่มีจุดมุ่งหมายคล้ายกันหรือเหมือนกันคือ ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัย ทั้งที่เป็นที่กิน ที่นอน ที่พักผ่อนหย่อนใจ ที่ทำงาน ตลอดจน การทำกิจกรรมต่างๆ อีกมากมายในชีวิตประจำวัน การที่มนุษย์เลือกที่จะสร้างที่อยู่อาศัยในลักษณะใดนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น งบประมาณการก่อสร้างหรือซื้อ ทำเลที่ตั้ง ความสะดวกสบาย จำนวนสมาชิกภายในครอบครัว จุดมุ่งหมายเชิงธุรกิจ เป็นต้น ดังนั้น จึงแยกอธิบายที่อยู่อาศัยตามลักษณะรูปแบบแต่ละอย่างดังนี้ คือ

           •  บ้านเดี่ยวและบ้านแฝด ที่อยู่อาศัยในลักษณะนี้จะถูกปลูกสร้างขึ้นเป็นหลังหากเป็นหลังเดี่ยวอิสระ จะถือว่าเป็น “บ้านเดี่ยว” หากมีผนังที่ใช้ร่วมกันด้านหนึ่ง จะถือว่าเป็น “บ้านแฝด” ซึ่งบ้านทั้งสองลักษณะนี้ มักจะมีบริเวณบ้าน และรั้วรอบขอบชิดเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน

           •  ตึกแถว (shop house) หมายถึง อาคารที่สร้างเป็นแถวติดต่อกันเกิน 2 หน่วย (unit) ขึ้นไป อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ
                              •  อาคารแถวแบบพักอาศัยล้วน ๆ
                              •  อาคารพาณิชย์หรือร้านค้าล้วน ๆ
                              •  อาคากึ่งที่อยู่อาศัย กึ่งพาณิชย์ หรือตึกแถว

               เมื่อมองอย่างผิวเผิน ลักษณะภายนอกของอาคารเหล่านี้ คล้ายคลึงกันมาก แต่เมื่อมองลึกเข้าไป จะมีความแตกต่างกันเรื่องประโยชน์ใช้สอย ซึ่งจุดนี้เองเป็นข้อแบ่งแยกประเภทของอาคาร มักจะพบเห็นในเขตเมือง เนื่องจากที่ดินมีราคาแพง ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก จึงมีความต้องการที่อยู่อาศัยค่อนข้างสูง ตึกแถวจึงเป็นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม เพราะการปลูกสร้างทำเป็นหลายคูหา มีผนังเสา ฐานรากร่วมกัน ช่วยประหยัดพื้นที่ วัสดุ และแรงงานก่อสร้างได้มาก

              โดยทั่วไป มักทำให้ตึกแถวเป็นอาคารสารพัดประโยชน์ หรืออเนกประสงค์ (multipurpose) เพื่อประโยชน์ใช้สอยในพื้นที่อย่างคุ้มค่า จึงมักพบว่าตึกแถวที่มีคูหาต่อๆ กันไป จะเป็นโรงงาน ร้านค้านานาชนิด ร้านจำหน่ายอาหาร และใช้เป็นที่อยู่อาศัยไปในตัว แต่ลักษณะตึกแถว จะมีพื้นที่จำกัด มีความกว้างด้านหน้าเพียง 3.5–4 เมตร ส่วนลึกประมาณ 12-16 เมตร เท่านั้น

               ด้านหน้าอยู่ชิดทางเท้าและถนน ส่วนด้านหลัง จะมีเพียงลานซักล้างเพียงแคบๆเท่านั้น จึงทำให้ไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร อีกทั้ง ไม่ได้รับแสงสว่างอย่างเพียงพอ การระบายอากาศมีน้อย ไม่มีพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้เลย

           •  ทาวน์เฮาส์ (town house) หมายถึง บ้านแถวที่ปลูกเป็นแนวยาว อาจมีตั้งแต่ชั้นเดียวขึ้นไป จนถึง 3-4 ชั้น บ้านลักษณะนี้ใช้เนื้อที่ในการก่อสร้างน้อย ที่ดินแต่ละหน่วยมีขนาดเล็กมากเพียง 16-28 ตารางวาเท่านั้น ตัวบ้านตั้งอยู่ตรงกลางมีที่ดินเหลืออยู่เล็กน้อย โดยหน้าบ้านอาจจัดเป็นสวนหย่อม ส่วนด้านหลังบ้านเป็นลานตากผ้า ทำสวนครัว บริเวณด้านหน้าบ้านติดถนนหรือทางเท้า แต่ละหน่วยของอาคารจะใช้ผนังร่วมกัน ยกเว้นหน่วยแรกและหน่วยสุดท้ายของแถว ทำให้ช่วยประหยัดค่าวัสดุก่อสร้างอีกทางหนึ่ง จึงทำให้ราคาของบ้านต่อหน่วยไม่สูงมากนัก อยู่ในงบประมาณที่คนมีฐานะปานกลางจะซื้อหรือผ่อนส่งได้

           •    แฟลต (flat) หรือห้องชุด   มีลักษณะเช่นเดียวกับอพาร์ตเมนต์ (apartment) ที่สร้างได้ห้องมาก (mass production) ทำให้เกิดความคุ้มค่า เพราะสร้างเป็นอาคารสูงหลายชั้นบนที่เพียงเล็กน้อย สร้างได้รวดเร็ว ลดต้นทุนในการผลิต เนื่องจากใช้ฐานรากและหลังคาอันเดียวกัน จึงทำให้ช่วยชะลอการแผ่ขยายตัวของที่อยู่อาศัยโดยรอบในแนวราบได้ดี ลดความหนาแน่นของที่อยู่อาศัยไม่ให้เบียดเสียดกันมากเกินไป อาคารหนึ่งๆ สามารถอยู่กันหลายๆ ครอบครัว ถึงแม้ว่าจะปลูกสร้างอยู่ในบริเวณใจกลางเมือง ซึ่งที่ดินมีราคาสูงก็ตาม แต่เมื่อเอาจำนวนหน่วยทั้งหมดมาเฉลี่ยแล้ว จึงทำให้ราคาต่อหน่วยไม่สูงมากนัก
               แฟลตจะมีลักษณะคล้ายคอนโดมิเนียมคือเป็นอาคารสูง ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น มีระเบียงทางเดินด้านใดด้านหนึ่ง อาจเป็น 2 ด้านหรือระเบียงตรงกลาง มีการใช้ผนังห้องร่วมกัน 2 หรือ 3 ด้าน ภายในหน่วยหนึ่งๆ จะแบ่งย่อยเป็นห้องโถงเอนกประสงค์ ห้องนอน ห้องน้ำ และห้องครัว เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตประจำวัน แต่มีข้อเสียอยู่บ้างคือแสงสว่างส่องเข้าไปได้น้อย การระบายอากาศไม่ดี และน้ำใช้อาจจะไม่เพียงพอ เพราะใช้กันมาก

           •  อาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม (condominium) เป็นอาคารที่อยู่อาศัยที่สร้างในแนวดิ่งสูงกว่าแฟลต เป็นอาคารที่มีห้องร่วมกันคือ บุคคลหลายๆคน สามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนเดียวกัน มีลักษณะคล้ายแฟลต เริ่มตั้งแต่ห้องเดี่ยวเอนกประสงค์ไปจนถึง 3-4 ห้องนอน ซึ่งแต่ละหน่วยจะมีห้องต่างๆ เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องรับแขก อย่างครบถ้วน ตลอดจนห้องทำงาน ห้องพักผ่อนส่วนตัวด้วย ในอาคารชุดจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือทรัพย์สินส่วนบุคคล ได้แก่ ห้องชุด และทรัพย์สินส่วนกลางได้แก่ ที่ดิน

            •  ชุมชนแออัด (slum) หมายถึงบ้านที่ปลูกสร้างอยู่ติดๆ กัน ยัดเยียดแบบหลังคาชิดติดกันเป็นบ้านหลังเล็กๆ การปลูกสร้างเป็นแบบง่ายๆ กึ่งถาวร ใช้วัสดุก่อสร้างราคาถูกหรือเป็นของเก่าที่นำมาปะติดปะต่อตามแต่เนื้อที่จะเอื้ออำนวย วัสดุที่ใช้มีทั้งที่เป็นสังกะสีเก่า ไม้อัด หรือกล่องกระดาษแข็ง ทำเป็นฝาบ้าน หลังคามุงสังกะสีเก่า ใต้ถุนจะเป็นแหล่งน้ำขัง เนื่องจากไม่มีทางระบายน้ำ เส้นทางสัญจรจึงต้องใช้การนำไม้กระดานยาวๆมาตอกต่อๆกัน ความเป็นอยู่ของผู้คนที่อยู่คล้ายในสลัม จึงอยู่ตามสภาพที่ไม่มีทางเลือก คุณภาพชีวิตต่ำ ผู้อยู่อาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น ในบ้านหลังหนึ่งอยู่กันหลายคนหรือหลายครอบครัว ซึ่งสภาพแวดล้อมไม่ดี ขาดแคลนการบริการทางด้านสังคม ด้านสาธารณูปโภค ตั้งแต่ ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบระบายน้ำเสีย ตลอดจนการใช้การศึกษาแก่เด็ก การรักษาพยาบาล เป็นต้น

3. ความสำคัญของที่อยู่อาศัย

          1. เป็นสถานที่คุ้มแดด คุ้มฝน ลม ความร้อน ความหนาว และอันตรายต่างๆ จากสิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นภัยธรรมชาติ รวมถึงภัยที่อาจเกิดจากมนุษย์ สัตว์ และแมลง 
          2. เป็นสถานที่สำหรับประกอบกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ได้อย่างสะดวก สบาย ได้แก่ การพักผ่อน นอนหลับ การกิน การขับถ่าย การสังคมของครอบครัว การศึกษา เป็นต้น 
          3. บ้านเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความภาคภูมิใจ และช่วยสร้างความรู้สึกเข้าหมู่พวกทาง เศรษฐกิจ เพราะบ้านเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นหลักเป็นฐาน ความเป็นผู้ใหญ่ และความมีชีวิตที่สมบูรณ์ ผู้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองจึงรู้สึกภาคภูมิใจในทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ความมีหน้ามีตาได้รับการยอมรับนับถือทางสังคม 
          4. บ้านเป็นแหล่งผลิตพลเมืองดีให้แก่สังคม “ คนดีมักมาจากครอบครัวที่มีพื้นฐานดี ” ครอบครัวที่มีความสุข ไม่จำเป็นจะต้องอยู่บ้านหลังใหญ่ แต่ขอให้เป็น “ บ้านที่น่าอยู่ น่าอาศัย ” เพราะที่อยู่อาศัยมีผลต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้มีพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านอารมณ์ และด้านสติปัญญาโดยตรงและผลโดยอ้อมที่ตามมาคือนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติต่อไป

4. ความจำเป็นที่ต้องจัดการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัยและสถาบัน

          1. ช่วยส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุขทั้งทางด้านร่างกาย และด้านจิตใจ
          2. ทำให้เกิดความปลอดภัยจากการเกิดอุบัติเหตุ และโรคติดต่อที่มีสาเหตุอันเนื่องมาจากที่อยู่อาศัย
          3. เป็นการส่งเสริมสุขภาพอนามัยของผู้พักอาศัย และผู้ที่เกี่ยวข้อง
          4. ก่อให้เกิดความสะอาด ความเป็นระเบียบ และถูกสุขลักษณะของที่อยู่อาศัยและสถาบัน

5. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัยและสถาบัน

          ลักษณะความบกพร่องของที่อยู่อาศัยในแต่ละแห่ง ซึ่งเป็นข้อบกพร่องพื้นฐานทางด้านสุขาภิบาลที่สำคัญ คือ
               •  น้ำดื่ม น้ำใช้ ไม่สะอาด และถูกปนเปื้อน 
               •  น้ำดื่ม น้ำใช้ มีไม่เพียงพอ และอยู่นอกบริเวณที่อยู่อาศัย 
               •  ห้องน้ำ ห้องส้วม อยู่นอกตัวอาคาร และใช้ร่วมกันกับเพื่อนบ้าน 
               •  มีห้องนอนใช้นอนรวมกันหลายคนคือ เฉลี่ยแล้วเกินกว่า 1.5 คนต่อห้อง 
               •  มีสถานที่อาบน้ำร่วมกันกับเพื่อนบ้าน หรืออยู่นอกอาคารที่อยู่อาศัย 
               •  พื้นที่ห้องนอนโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 40 ตารางฟุตต่อคน 
               •  อาคารบ้านพักอาศัยมีทางเข้าออกทางเดียว หรือไม่สะดวก 
               •  ไม่มีไฟฟ้าใช้ 
               •  แสงสว่างในอาคารที่อยู่อาศัยแต่ละห้องมีไม่พอ 
               •  ห้องไม่มีหน้าต่าง และขาดการระบายอากาศที่ดี 
               •  ที่อยู่อาศัยมีสภาพทรุดโทรม 
               •  บริเวณบ้านสกปรกเลอะเทอะ มีน้ำขังเฉอะแฉะ 
               •  มีกลิ่นเหม็นรบกวน

6. ข้อจำกัดในการจัดการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัยให้มีความเหมาะสม

     6.1 ข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจ การสร้างบ้านพักอาศัยให้ถูกสุขลักษณะหรือถูกหลักสุขาภิบาลได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นกับเศรษฐานะของผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ หากมีฐานะดีก็สามารถซื้อหรือสร้างบ้านเป็นของตนเอง โดยออกแบบการสร้างตามที่ใจต้องการได้ ตรงกันข้ามกับบางกลุ่มที่ฐานะไม่เอื้ออำนวย อาจจำเป็นต้องอยู่ตามอัตภาพ ต้องเช่าอาศัยอยู่หรืออยู่ร่วมกันกับคนอื่นๆ ในเนื้อที่ที่ค่อนข้างจำกัด สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ห้องแถว หรือชุมชนแออัด เป็นต้น โดยเฉพาะในเขตเมืองขนาดใหญ่ ที่ผู้คนมาอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น

     6.2 ข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับสภาวะทางสังคม อัตราการเพิ่มประชากรและการโยกย้ายถิ่นฐานโดยประชาชนในชนบทอพยพเข้าสู่เขตเมืองหลวง หรือเมืองขนาดใหญ่ เพื่อหางานทำหรือมุ่งเข้าหาแหล่งที่มีความเจริญ ได้กลายเป็นปัญหาทางสังคมของชุมชนเมืองในปัจจุบัน เนื่องด้วยจำกัดในพื้นที่ที่ดิน มีผู้มาอยู่อาศัยมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาอยู่กันอย่างหนาแน่น การปรับตัวเพื่อการดำรงชีพในชุมชนเมือง หากชุมชนใด จัดการไม่ดี จะกลายเป็นสังคมที่เสื่อมโทรม ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตให้ตกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

    6.3 ข้อจำกัดทางการศึกษา ปัญหาการให้ความรู้ผ่านระบบการศึกษาหรือผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งทำได้ค่อนข้างน้อย จึงทำให้ประชาชนทั่วไปขาดความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องทำที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะการจัดสิ่งแวดล้อมตามความต้องการทั้งสี่ประการที่กล่าวมาข้างต้น

    6.4 ข้อจำกัดทางด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ความแตกต่างด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม มีส่วนในการกำหนดรูปทรงและการจัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย บ้านในเขตชนบท อาจสร้างเป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เป็นบ้านไม้ยกพื้นสูง และอาจมีการทำคอกสัตว์ใต้ถุนบ้านด้วย ในขณะที่บ้านในเขตเมือง เอื้อต่อการสร้างเป็นอาคารคอนกรีตจะเหมาะสมกว่า ซึ่งบ้านแต่ละแบบก็มีข้อดี - ข้อด้อยมากน้อยต่างกันไป หากเป็นบ้านทรงไทย ภายในบ้านจะไม่อบอ้าว เพราะมีการระบายอากาศได้ดี

    6.5 ข้อจำกัดทางด้านนโยบาย การวางแผนทางเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่น ภูมิภาค รัฐ และชาติ หากแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นและชาติ ขาดความชัดเจนและไม่แน่นอน ขาดเสถียรภาพ อาจส่งผลกระทบต่อการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงสุขาภิบาลที่อยู่อาศัยด้วย การขาดการวางแผนด้านผังเมือง อาจทำให้เกิดการปะปนกันระหว่างบ้านพักอาศัย โรงงานอุตสาหกรรม หรือสถานที่ราชการได้

  หลักการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย                                                                            

          สมาคมสาธารณสุขอเมริกัน (American Public Health Administration) ได้กำหนดมาตรฐานความต้องการในเรื่องบ้านพักอาศัย ดังนี้คือ

  • บ้านพักอาศัยจะต้องมีลักษณะเป็นไปตามความต้องการทางด้านร่างกายของผู้อยู่-อาศัย (Fundamental Physiological Needs)
  • บ้านพักอาศัยจะต้องเป็นไปตามความต้องการทางด้านจิตใจของผู้อยู่อาศัย (Fundamental Psychological Needs)
  • ต้องป้องกันโรคติดต่อภายในบ้าน (Provision against Communicable Diseases)
  • สามารถป้องกันอุบัติเหตุภายในบ้าน (Provision against Accidents)

1. ความต้องการพื้นฐานทางด้านร่างกาย (Fundamental Physiological Needs)

          หมายถึง การจัดสิ่งแวดล้อมของที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมสนองความต้องการทางร่างกาย แก่ผู้อยู่อาศัยได้ เช่น การจัดระบบระบายอากาศให้เหมาะสม มีแสงสว่างเพียงพอ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้อยู่อาศัยที่จะต้องพิจารณาจัดให้ถูกต้องด้วย ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่

    1.1 อุณหภูมิและความชื้น (Temperature and Humidity)
           อุณหภูมิและความชื้นมีส่วนทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบาย หากมีอากาศร้อนและความชื้นสูงจะทำให้รู้สึกเฉื่อยชา (sluggish) แต่ถ้าหากมีอากาศเย็นหรือแห้งและความชื้นต่ำ มักจะมีความกระตือรือร้น อย่างไรก็ตาม มนุษย์แต่ละพื้นที่จะมีความรู้สึกสบายต่ออุณหภูมิและความชื้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ เช่น ความไวต่อความรู้สึก (sensation) สุขภาพอนามัย (health) เพศ (sex) กิจกรรมที่กำลังกระทำ (activities) เครื่องแต่งกาย และอายุของผู้อยู่อาศัย เป็นต้น ในประเทศไทย อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับคนไทยมีการเสนอแนะว่า ควรอยู่ในช่วง 26.5-29 องศาเซลเซียส ความเร็วลม 1 ฟุตต่อวินาที ที่ความชื้นสัมพัทธ์ 50-60 เปอร์เซ็นต์ และที่อุณหภูมิเบี่ยงเบน 3-6 องศาเซลเซียส

     1.2 การระบายอากาศ (Ventilation)
            การระบายอากาศที่ดี เป็นการช่วยให้บ้านพักอาศัยปราศจากมลพิษทางอากาศภายในบ้านพักอาศัย (Indoor Air Pollution) เป็นการลดอัตราความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังและเยื่อบุอักเสบต่าง ๆ (chronic respiratory diseases and malignancies) สารมลพิษต่างๆ ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการสันดาปเชื้อเพลิงที่เกิดจากการหุงต้มภายในบ้าน เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สารประกอบอินทรีย์ ควันบุหรี่ เป็นต้น

             •  การระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ (Natural Ventilation) เป็นการออกแบบและสร้างส่วนต่างๆภายในบ้าน ให้มีการระบายอากาศเป็นไปโดยธรรมชาติ เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องส้วม เป็นต้น การเคหะแห่งชาติได้กำหนดมาตรฐานส่วนต่างๆ ภายในที่อยู่อาศัย เพื่อการระบายอากาศที่เหมาะสม ดังนี้
                 ก. การระบายอากาศของพื้นที่อยู่อาศัย
       
               •  ความสูงจากพื้นถึงเพดานของพื้นที่ใช้อยู่อาศัย ต้องไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร 
                      •  ปริมาตรพื้นที่อยู่อาศัยต้องไม่น้อยกว่า 10 ลูกบาศก์เมตรต่อคน โดยนับรวมห้องที่อยู่อาศัยทั้งหมดของบ้าน
                      •  พื้นที่ของประตู หน้าต่าง ช่องระบายลม รวมกันจะต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 ของพื้นที่ห้องนั้น ๆ

                  ข. การระบายอากาศของพื้นที่ที่ไม่ใช้อยู่อาศัย
                       •  การระบายอากาศใต้ถุน อาคารที่มีพื้นที่ชั้นล่างลอยพ้นจากระดับดิน ซึ่งบางส่วน หรือทั้งหมดของโครงสร้างนั้นเป็นไม้จะต้องมีช่องระบายอากาศอย่างน้อย ร้อยละ 10 ของเนื้อที่ใต้ถุนทั้งหมด 
                       •  การระบายอากาศห้องหลังคา และเนื้อที่เหนือเพดาน ต้องจัดให้มีทางลมผ่านตลอด มีขนาดเท่ากับร้อยละ 5 ของพื้นที่เพดาน ในกรณีที่ใช้ห้องหลังคาเป็นที่อยู่อาศัย จะต้องจัดให้มีการระบายอากาศ เช่นเดียวกับการระบายอากาศของพื้นที่อยู่อาศัย

                 •  การระบายอากาศโดยอาศัยเครื่องมือกล (Mechanical Ventilation)ได้แก่ การระบายอากาศโดยการติดตั้งพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อช่วยปรับระดับของอุณหภูมิและเกิดการถ่ายเทอากาศภายในห้อง หรืออาคารที่อยู่อาศัยตามความเหมาะสมที่ต้องการ โดยปกติแล้วไม่ควรน้อยกว่า 15 ลูกบาศก์ฟุตต่อคนต่อนาที ถ้า 25 ลูกบาศก์ฟุตต่อคนต่อนาที จะช่วยระบายกลิ่นได้ด้วย แต่ไม่ควรเกิน 50 ลูกบาศก์ฟุตต่อคนต่อนาที เพราะจะทำให้รู้สึกไม่สบาย สำหรับ เครื่องปรับอากาศ ควรมีอุณหภูมิ ระหว่าง 24–29 องศาเซลเซียส

   1.3 แสงสว่าง (Lighting)

          แสงสว่างในที่อยู่อาศัย ควรจะต้องจัดให้มีพอเพียงตามความต้องการของผู้อยู่ อาศัย สำหรับประกอบกิจกรรมต่างๆ ภายในบ้านได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สายตา โดยปกติ ควรจัดให้มีพื้นที่ประตู หน้าต่าง และช่องลม รวมกันแล้ว ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 ของพื้นที่ห้อง เพื่อให้สามารถเปิดให้แสงสว่างจากภายนอกส่องเข้ามาข้างในได้ มีสภาพแสงที่เหมาะสมต่อการทำกิจกรรม บางแห่งของที่อยู่อาศัย มีเพียงแหล่งแสงสว่างจากภายนอกเท่านั้นก็เพียงพอ แต่ในบางแห่ง จำเป็นต้องมีแหล่งแสงจากหลอดไฟประดิษฐ์เพิ่มเติมในบางจุด เพื่อให้มีความเข้มของการส่องสว่างเพียงพอตามลักษณะงานที่ทำ รวมถึงการที่ต้องเปิดหลอดไฟประดิษฐ์ในตอนกลางคืนด้วย

          กรณีที่ต้องใช้หลอดไฟประดิษฐ์นั้น มีข้อควรคำนึงอยู่หลายประการ ดังนี้คือ 
                    - ห้ามใช้แสงจ้าหรือแสงมืดสลัว เพราะจะมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบประสาทตา กล้ามเนื้อที่ยึดเลนส์นัยน์ตาจะทำงานผิดปกติ ทำให้อวัยวะที่เกี่ยวกับตา และประสาทตาเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ แสงจ้าจะทำให้ตาพร่ามัว รู้สึกแสบตา ส่วนแสงสลัว จะทำให้ต้องเพ่งสายตามากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการเมื่อยล้า และมองเห็นไม่ชัด อาจเกิดอุบัติเหตุได้โดยง่าย 
                    - ห้ามใช้แสงกระพริบ เพราะจะทำให้เกิดการกระตุ้นประสาทตาให้เป็นไปตามจังหวะของการกระพริบของแสงนั้น สายตาและประสาทตาจะเสื่อมเสียเร็วกว่าปกติ 
                    - พยายามจัดให้มีความสว่างกระจายอยู่อย่างสม่ำเสมอทั่วทุกพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเงาหรือให้มีน้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี และยังก่อให้เกิดความสะดวกสบายต่อการอยู่อาศัยและการทำงานด้วย

          การจัดแสงสว่างในที่อยู่อาศัย สามารถจัดได้ 2 ลักษณะคือ 
                    •  โดยใช้แสงสว่างจากธรรมชาติ (Natural lighting) 
                    •  โดยใช้ดวงไฟ (Artificial lighting)

          1. การจัดแสงสว่าง โดยใช้แหล่งของแสงจากธรรมชาติ (Natural lighting)

                    แหล่งของแสงสว่างจากธรรมชาติคือแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ซึ่งจะอาศัยได้เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น โดยไม่ต้องลงทุน เพียงแต่จะต้องจัดให้มีช่องเปิดรับแสงที่เพียงพอ สมควรได้รับการพิจารณาเป็นอันดับแรก ในการจัดแสงเข้าสู่ภายในตัวอาคารที่อยู่อาศัย แต่มีเกณฑ์ที่ควรคำนึงถึง ดังนี้คือ

                    •  ให้มีพื้นที่ของหน้าต่างต่อพื้นที่ของตัวอาคารอยู่ในสัดส่วน 1 ต่อ 4 
                    •  เพื่อให้การกระจายของแสงสว่างเป็นไปด้วยดี ควรให้ระดับขอบล่างของหน้าต่างอยู่สูงกว่าระดับของพื้นห้อง ประมาณครึ่งกลางของความสูงของห้อง และควรให้ระดับขอบบนของหน้าต่างอยู่ชิดกับขอบของเพดานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 
                    •  เพดานของห้องครัว ควรจะมีสีขาวหรือสีอ่อนๆ เพื่อให้สามารถสะท้อนแสงได้มากขึ้น พื้น และฝาผนังห้องควรมีการเคลือบเงาบางๆ เพื่อลดความแตกต่างหรือความตัดกันระหว่างหน้าต่างและสีขาวของพื้นห้อง

          2. แสงสว่างที่ประดิษฐ์หรือสร้างขึ้น (Artificial lighting)

                    แสงสว่างที่ได้ อาจมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เช่น ไม้ น้ำมัน ไข เทียนไข ไต้หรือก๊าซ เป็นต้น หรือแสงสว่างที่ได้จากกระแสไฟฟ้าผ่านทางหลอดไฟที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาได้แก่ ตะเกียงหลอดไฟฟ้า โคมไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งการจัดสภาพแสงมีองค์ประกอบที่ต้องพิจารณา ได้แก่

                    •  ลักษณะของงาน งานแต่ละอย่าง อาจต้องการปริมาณและคุณภาพของแสงไม่เท่ากัน ควรจัดให้เพียงพอสำหรับการมองเห็นที่ดี ไม่ให้จ้าหรือสลัวมากเกินไป ทิศทางของแสงอาจเป็นลำแสงส่องมาทางใดทางหนึ่งเฉพาะ หรือเลือกเป็นแบบที่กระจายมาจากหลายทิศทาง ขึ้นกับความต้องการของผู้ที่จะใช้แสงปฏิบัติงาน 
                    •  บริเวณที่ต้องทำงาน มีข้อควรพิจารณา ดังนี้ 
                            •  บริเวณที่ต้องทำงานมีขนาดเนื้อที่เท่าใด พื้น ผนัง เพดานของบริเวณ นั้นทำด้วยวัสดุอะไร ทาสีอะไร และสะท้อนแสงได้ดีเพียงใด เพื่อนำไปประกอบการคำนวณปริมาณของดวงไฟที่ต้องใช้เพื่อให้ได้ปริมาณแสงสว่างที่เพียงพอ 
                            •  แสงสว่างที่สะท้อนจากผนัง เพดาน และพื้นของบริเวณที่ทำงาน ควรให้เหมาะสมต่อการมอง อย่าให้เกิดความแตกต่างของแสงสว่าง (contrast) มากเกินไป เพราะจะทำให้ต้องปรับสายตาอยู่เสมอ อาจเกิดความไม่สบายตาและเป็นอุปสรรคต่อการมองเห็น 
                            •  ลักษณะพื้นผิวหน้าของวัตถุต่างๆ ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ทำงาน เช่น ผนัง เพดาน และพื้นห้อง เอื้ออำนวยที่จะทำให้เกิดแสงมากเกินต้องการจากการสะท้อนแสงจากดวงไฟหรือไม่ 
                            •  ควรจัดแสงด้วยแบบที่ให้แสงสว่างกับบริเวณโดยทั่วไปเท่าเทียมกัน (General Lighting) หรือแบบที่ต้องให้มีแสงสว่างเสริมเฉพาะจุดที่ต้องการ (Supplementary Lighting) 
                      •  การเลือกโคมไฟ มีข้อควรพิจารณาหลายประการได้แก่ จะเลือกโคมไฟที่ให้แสงประเภทใด เช่น ส่องตรงๆ โดยผ่านโป๊ะไฟที่เป็นกระจกใสหรือให้แสงที่กระจายโดยผ่านโป๊ะไฟที่เป็นกระจกฝ้า การเลือกจัดระบบให้แสงสว่างให้สอดรับกับลักษณะของผนังเพดานและพื้น รวมทั้งความเหมาะสมในแง่เศรษฐกิจของระบบแสงสว่างจากโคมไฟแต่ละชนิด เป็นต้น 
                      •  การวางผังติดตั้งโคมไฟ การติดตั้งโคมไฟ จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ได้ผล ตามต้องการมากที่สุด ให้เพียงพอต่อการส่องสว่างบนชิ้นงานหรือสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป นอกจากนี้ จะต้องทำให้รู้สึกสบายตาและสบายใจของผู้ทำงานในบริเวณนี้ด้วย 
                      •  การบำรุงรักษา หลอดไฟที่นำมาใช้งาน แต่ละชนิดจะมีอายุการใช้งานของตนเอง แผนเกี่ยวกับการบำรุงรักษาระบบแสงสว่างจึงมีความจำเป็น เพื่อการเปลี่ยนหลอดไฟที่หมดอายุตามกำหนดหรือเปลี่ยนหลอดไฟที่ชำรุด หรือหากโคมไฟสกปรก เนื่องจากมีฝุ่นละอองหรือเขม่าควันไปจับ จนทำให้ปริมาณการส่องสว่างลดลง จำเป็นจะต้องทำการเช็ดล้างให้สะอาด เพื่อให้ความสว่างกลับมาดีเท่าเดิม ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความสบายตาในการมองเห็น

                    นอกจากองค์ประกอบต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ความสว่างที่เกิดขึ้นภายในที่อยู่อาศัย ยังได้รับแสงสะท้อน (Reflex light) จากภายในอาคารเองด้วย โดยเป็นความสว่างที่สะท้อนจากฝาผนัง พื้น เพดาน และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งจะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับสีของพื้นผิวนั้น ดังนั้น การเลือกใช้สีทาพื้นผนัง หรือเพดาน จึงมีส่วนช่วยให้เกิดความสว่างในอาคารที่อยู่อาศัยด้วย โดยเฉพาะในเวลาเปิดไฟฟ้า จะมีส่วนช่วยให้แสงสว่างเพิ่มขึ้น หากต้องการให้มีความสว่างมากขึ้น ก็ควรเลือกทาด้วยสีที่มีเปอร์เซ็นต์ความสามารถสะท้อนแสงสูง เช่น สีขาว สีครีม หรือหากต้องการได้สีสันสวยงามตามต้องการ ก็อาจเลือกใช้สีทีมีการสะท้อนแสงลดต่ำลงตามลำดับ ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ชนิดของสีและความสามารถในการสะท้อนแสง

ชนิดของสี

ความสามารถสะท้อนแสง (%)

สีขาวพลาสเตอร์ 
สีขาวธรรมดา 
สีขาวงาช้าง 
สีครีมอ่อน 
สีครีม 
สีชมพูอ่อน 
สีเหลืองอ่อน 
สีฟ้าอ่อน 
สีเทาอ่อน 
สีเขียวอ่อน 
สีแดง

90–92
81
79
74
69–74
67
65
61
49
47
13

    1.4  เสียงรบกวน (Noise)

           เสียงรบกวนหรือเสียงอึกทึกหมายถึงเสียงที่ก่อให้เกิดความรำคาญหรือเสียงที่ไม่ต้องการ อันตรายของเสียงมีสาเหตุมาจากระดับของเสียง (Pitch) ได้แก่ เสียงสูง เสียงต่ำ โดยเฉพาะเสียงสูงเป็นอันตรายต่อระบบการได้ยินของหูมาก และความดังของเสียง (Loudness) ซึ่งมีหน่วยเป็นเดซิเบล (dB) การที่ต้องอาศัยในที่ที่มีเสียงดังเป็นเวลานาน อาจมีผลทำให้หูชั้นในถูกทำลาย เกิดหูหนวก หูตึง ปวดศีรษะ การเต้นของหัวใจผิดปกติ นอนไม่หลับ เป็นต้น

            เสียงดังที่เกิดขึ้นภายในบ้าน มักเกิดจากการทำกิจกรรมต่างๆ โดยเป็นเสียงดังจากเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องปั่นไฟฟ้า เครื่องดูดฝุ่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องเสียง เป็นต้น และอาจมีเสียงดังจากภายนอกที่มาจากชุมชนรอบบ้าน ได้แก่ เสียงคุย เอะอะ จอแจ เสียงเครื่องขยายเสียง เสียงจากเครื่องจักร เครื่องยนต์ต่างๆ เสียงดังเหล่านี้ อาจเกิดการผสมกัน ก่อให้เกิดเสียงดังมากขึ้น และจะเกิดความเดือดร้อนมากขึ้น หากเป็นเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องการความเงียบเพื่อการพักผ่อนหลับนอน เสียงในบ้านพักควรอยู่ในช่วงประมาณ 40-50 เดซิเบลเอ (dBA) ถ้าในช่วงของการพักผ่อนหรือนอนหลับ ไม่ควรเกิน 30 dBA เสียงดังตลอดเวลา 8 ชั่วโมงในหนึ่งวัน ไม่ควรเกิน 75 dBA และระดับความดังของเสียงไม่ควรเกิน 130 dBA เพราะอาจมีผลทำให้สูญเสียการได้ยินอย่างถาวรได้

 

2. ความต้องการพื้นฐานทางด้านจิตใจและสังคม (Fundamental Psychological and Social Needs)

           หมายถึง การจัดสิ่งแวดล้อมของที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้อาศัยมีความสุขสบายทางจิตใจ เช่น ความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่แออัดหรือคับแคบ สมาชิกภายในบ้านมีความสามัคคีกลมเกลียวกันดี มีชีวิตความเป็นอยู่กับเพื่อนบ้านได้ดี ภายในที่อยู่อาศัยมีสิ่งอำนวยความสะดวกตามความจำเป็นพื้นฐาน เป็นต้น ความต้องการทางจิตใจของผู้อยู่อาศัยที่สำคัญ มีดังต่อไปนี้

            •  ความเป็นสัดส่วน และเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย โดยความเป็นจริงตามธรรมชาติ มนุษย์ย่อมมีความต้องการความเป็นอิสระในการอยู่อาศัย ปราศจากการรบกวนจากผู้อื่น ดังนั้น จึงมักจะหาที่อยู่อาศัยแยกออกมาอยู่เฉพาะครอบครัวตน โดยภายในที่อยู่อาศัย จำเป็นต้องจัดให้มีห้องต่างๆ เป็นสัดส่วน เช่น ห้องนอน ห้องรับแขก ห้องครัว ห้องสุขา เป็นต้น เพื่อประโยชน์ใช้สอยตามความเหมาะสม

            •  ความสะอาดของที่อยู่อาศัย ความสะอาดของที่อยู่อาศัยนอกจากจะช่วยส่งเสริมสุขภาพทางกายแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพทางจิตด้วย ทำให้เกิดความสบายตา สบายใจเมื่อได้พบเห็น ดังนั้น ที่อยู่อาศัยควรหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ รวมไปถึงบริเวณบ้านก็ต้องสะอาด มีการจัดการขยะมูลฝอย และสิ่งสกปรกต่างๆ รวมทั้งของเสียที่เกิดจากที่อยู่อาศัย เช่น น้ำเสีย จะต้องจัดการอย่างเหมาะสม การทำความสะอาดที่อยู่อาศัย อาจแบ่งตามลักษณะงานได้ 3 ขั้นตอนคือ
               - การทำความสะอาดทุกวัน ได้แก่ การทำสะอาดพื้นที่ที่ต้องใช้งานทุกวัน เช่น การกวาดพื้น ปัดที่นอน โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น
               - การทำความสะอาดเป็นรายสัปดาห์ เช่น ปัดฝุ่นละอองตามตู้ จัดตู้กับข้าว ล้างตู้เย็น ล้างพื้นห้องน้ำ เป็นต้น
               - การทำความสะอาดเป็นรายเดือน เช่น การกวาดหยากไย่ เช็ดหน้าต่าง ประตูมุ้งลวด เป็นต้น

           •  ความสวยงาม และความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยปกติแล้ว ผู้อยู่อาศัยมักต้องการที่อยู่อาศัยที่สวยงาม ภูมิฐาน และมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่สกปรกเลอะเทอะทั้งภายนอก ภายในอาคาร และบริเวณบ้าน ทั้งนี้จะต้องมีสภาพที่เข้ากับสภาพของชุมชนโดยส่วนรวมได้ จึงจะทำให้ผู้อาศัยเกิดความภาคภูมิใจ และมีความสบายใจได้

           •  ความสะดวกสบาย ผู้อยู่อาศัยมีความต้องการให้ที่อยู่อาศัยมีความสะดวกสบาย โดยพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้
               - การเลือกทำเลที่ตั้งบ้าน จะต้องอยู่ในบริเวณที่ไม่ห่างจากที่ทำงาน ตลาด โรงเรียนมากนัก มีความสะดวกในการเดินทางไปมา มีสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ เข้าถึง เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ เป็นต้น
               - การจัดวางตัวบ้านบนที่ดิน ควรให้มีความสะดวกต่อการเดินทางเข้าออกประตูใหญ่ วางตำแหน่งตัวบ้านให้ได้รับแดด และรับลมแต่พอสมควร
               - การจัดวางเครื่องเรือนเครื่องใช้เหมาะกับบ้าน และจัดลำดับให้ต่อเนื่องของงาน ทำให้เกิดความสะดวกสบายไม่เปลืองแรงงาน

3. การป้องกันโรคติดต่อ (Protection against Communicable Diseases)

          การติดต่อของโรคภายในบ้านพักอาศัย จะเป็นไปได้ง่ายหรือยาก ขึ้นกับองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการคือ ตัวบุคคล (Host) เชื้อโรค (Agents) และสิ่งแวดล้อมโดยรวม (Environment) ดังนั้น การจะควบคุมป้องกันโรคติดต่อภายในบ้านอย่างได้ผล จำเป็นจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบเหล่านี้ อันได้แก่ การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่คนภายในครอบครัว จัดให้มีสุขวิทยาส่วนบุคคลและส่วนรวมที่ดี ขจัดตัวการที่ทำให้เกิดโรคหรือพาหะนำโรคติดต่อต่างๆ เช่น แมลงวัน แมลงสาบ ยุง เป็นต้น การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยจัดให้มีน้ำดื่ม น้ำใช้ที่สะอาด พอเพียง มีการกำจัดสิ่งปฏิกูลมูลฝอยอย่างถูกสุขลักษณะ มีการระบายน้ำเสียที่เหมาะสม การเตรียมอาหารที่ปลอดภัยต่อการบริโภค ตลอดจน สิ่งต่างๆที่อยู่โดยรอบ ให้มีสภาพที่ปลอดภัย ไม่เอื้อต่อการเกิดโรคติดต่อภายในบ้าน

          •  การมีน้ำสะอาดปลอดภัย (Safe Water Supply)

                    น้ำมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อการอุปโภค และบริโภค ได้แก่ การดื่ม การซักล้าง การหุงต้มอาหาร การกำจัดสิ่งปฏิกูล ฯลฯ แต่ต้องเป็นน้ำที่สะอาดเท่านั้น จึงจะก่อให้เกิดความปลอดภัยจากการเจ็บป่วยอันเนื่องจากโรคที่มีน้ำเป็นสื่อ (Water Borne Diseases) ซึ่งก็คือโรคที่เกิดกับระบบทางเดินอาหาร นั่นเอง

                    โดยปกติ ภายในอาคารบ้านเรือน น้ำจะถูกแบ่งเป็น 2 ประเภท ตามจุดประสงค์ของการใช้สอยคือ น้ำดื่มและน้ำใช้ โดยมีข้อควรคำนึงในด้านคุณภาพของน้ำในน้ำดื่มมากกว่าน้ำใช้ น้ำดื่มจะต้องได้มาตรฐานน้ำดื่มสะอาดคือต้องปราศจากจุลินทรีย์ และสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย ใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ฯลฯ แต่เมื่อคิดในเชิงปริมาณแล้ว ความต้องการทั้งน้ำดื่มน้ำใช้ สำหรับผู้อยู่อาศัยในชุมชนเมืองใหญ่ ประมาณ 270–300 ลิตร/คน/วัน ชุมชนขนาดเล็กมีความต้องการน้ำประมาณ 120–150 ลิตร/คน/วัน ส่วนในชุมชนชนบทมีความต้องการน้ำประมาณ 45–70 ลิตร/คน/วัน

                    แหล่งน้ำสะอาดที่ได้ในเขตเมือง มักจะเป็นน้ำที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีกิจการประปาสาธารณะ ให้บริการจ่ายน้ำไปตามท่อประปาสาธารณะ และต่อท่อประปาเข้าภายในบ้าน ส่วนในเขตชนบทบางแห่ง อาจมีระบบประปาหมู่บ้านที่จะให้บริการน้ำจ่ายไปท่อประปาสาธารณะ แต่ทั้งนี้ จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลด้านคุณภาพอย่างใกล้ชิด และควรได้รับรองคุณภาพจากกรมอนามัย จึงจะมั่นใจในความปลอดภัย ส่วนพื้นที่บางแห่งในเขตเมืองหรือเขตชนบทก็ตามที่ระบบประปาเข้าไม่ถึงหรือยังไม่มีระบบประปา จำเป็นจะต้องมีแหล่งน้ำใช้แหล่งใดแหล่งหนึ่ง อาจเป็นน้ำฝน น้ำบ่อ น้ำสระ ฯลฯ หากไม่แน่ใจเรื่องคุณภาพน้ำ จะต้องนำมาปรับปรุงคุณภาพให้ดีก่อน เช่น การต้ม การกรอง การทำให้ตกตะกอน เป็นต้น อีกทั้งต้องคำนึงถึงการปนเปื้อนอีกด้วย ภาชนะที่ใช้จ้วงตัก ต้องมีไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะหรือภาชนะเก็บกักน้ำ เช่น ถังเก็บน้ำฝน หรือตุ่มน้ำ ควรหมั่นดูแลทำความสะอาดเป็นระยะ มีฝาปิดมิดชิดไม่ให้สิ่งสกปรกตกลงไป

          •  การเตรียมอาหารที่ปลอดภัย (Safe Food Preparation)

                    อาหารเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวันเพราะโดยส่วนใหญ่ ผู้อยู่อาศัยจะเตรียมอาหาร ปรุง ประกอบและรับประทานอาหารภายในบ้านพักอาศัย ยกเว้นบางมื้อสำหรับผู้ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน อาหารสำหรับบริโภคจะต้องสะอาด ปลอดภัยต่อสมาชิกภายในครัวเรือน ดังนั้น ควรจะต้องคำนึงถึงตั้งแต่การเลือกซื้อ การปรุงประกอบ การเก็บรักษา ขั้นตอนต่างๆต้องพยายามป้องกันการปนเปื้อนสิ่งสกปรก เชื้อโรค โดยคำนึงถึงสุขวิทยาส่วนบุคคลของผู้ปรุงผู้เสิร์ฟ ร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้าต้องสะอาด สวมชุดกันเปื้อน ส่วนภาชนะอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบอาหาร ใส่อาหารก็ต้องสะอาด ปลอดภัยใช้ประกอบอาหารได้ นอกจากนี้แล้ว อาหารที่เตรียมไว้เพื่อรอรับประทานหรืออาหารที่เหลือจากการรับประทาน ควรเก็บไว้ในภาชนะที่มิดชิด เช่น ฝาชี หรือตู้กับข้าว เพื่อป้องกันพาหะนำโรค จำพวกสัตว์และแมลง เช่น หนู แมลงวัน แมลงสาบ ฯลฯไต่ตอม อันเป็นเหตุ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินอาหารได้ ข้อพิจารณาเพิ่มเติมคืออาหารเหล่านั้น ควรมีคุณค่าทางโภชนาการ มีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ตามความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะวัยเด็กที่กำลังเจริญเติบโต

          •  การกำจัดสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary Excreta Disposal)

                    สิ่งปฏิกูลคือของเสียที่ขับถ่ายออกมาจากร่างกายของมนุษย์ รวมถึงสัตว์เลี้ยงด้วย หากมีการกำจัดไม่ดี อาจเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่มากับระบบทางเดิน - อาหารได้ โดยการแพร่ไปกับแหล่งน้ำหรือผิวดิน ตลอดจนมีพาหะนำโรค เช่น แมลงวัน แมลงสาบ นำเชื้อไปปนเปื้อนโดยการไต่ตอมอาหาร ทำให้โรคระบาดไป อย่างรวดเร็ว

                    การควบคุมป้องกันกำจัดสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาลจึงถูกกำหนดขึ้นในกฎหมาย โดยเฉพาะในเขตเมือง เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ยกตัวอย่าง ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้อาคารที่บุคคลเข้าพักอาศัยหรือใช้สอยได้ ต้องมีห้องส้วมที่มีขนาดเนื้อที่ภายใน ไม่น้อยกว่า 0.90 เมตร ถ้าเป็นห้องอาบน้ำด้วย ต้องมีเนื้อที่ภายในไม่น้อยกว่า 1.5 ตารางเมตร มีลักษณะที่จะรักษาความสะอาดได้ง่าย และต้องมีช่องระบายอากาศไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ห้อง หรือมีพัดลมระบายอากาศ และกำหนดให้ส้วมต้องเป็นชนิดชำระสิ่งปฏิกูลด้วยน้ำลงสู่บ่อเกราะ บ่อซึม หากการสร้างส้วมภายในระยะ 20 เมตร จากเขตคูคลองสาธารณะ ต้องสร้างเป็นส้วมถังเก็บชนิดน้ำซึมไม่ได้

                    ส่วนการกำจัดสิ่งปฏิกูลในชนบทนั้น ถึงแม้ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดไว้เด่นชัดก็ตาม แต่ก็มีการรณรงค์ให้มีและใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ โดยครอบคลุมทุกหลังคาเรือน หลายๆจังหวัดประกาศตัวว่าเป็นพื้นที่ที่มีและใช้ส้วม 100% ไปแล้ว และคงขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมมากไปเรื่อย ๆ เพราะเห็นผลได้ในมาตรการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ทำให้ลดอัตราการป่วย ด้วยโรคอันเนื่องจากอาหารและน้ำเป็นสื่อลงไปได้มาก เนื่องจากตัดขั้นตอนตรงแหล่งเชื้อในสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย แต่ปัญหาใหม่ที่ยังแก้ไม่ตกในปัจจุบันคือรถที่บริการสูบส้วมที่นำอุจจาระไประบายทิ้งลงในบริเวณที่สาธารณะ โดยไม่นำไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ อันเกิดจากความมักง่ายของผู้ประกอบการ ทำให้เป็นปัญหาที่ต้องกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อการควบคุมป้องกันโรคอย่างได้ผล

          •  การกำจัดมูลฝอย (Disposal of Solid Waste)

                    มูลฝอยเป็นของเสีย ของทิ้งจาการทำกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ ทั้งที่เป็นขยะเปียก ขยะแห้ง ขี้เถ้า และอื่นๆ มูลฝอยเหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะต้องมีวิธีเก็บกักและนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่เช่นนั้นแล้ว จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์และแมลงนำโรคหลายชนิด รวมถึงการส่งกลิ่นเหม็น สกปรกไม่น่าดู และการได้รับอุบัติเหตุ อันเกิดจากมูลฝอยอันตรายบางจำพวก

                    ปัจจุบัน ในเขตชุมชนเมืองมีผู้คนเข้าไปอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดปัญหาในการจัดการด้านสาธารณูปโภค และการให้บริการต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะ ด้านกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ความไม่เพียงพอของที่รองรับมูลฝอย ปัญหาการกำจัด ไม่สามารถกำจัดได้ทันกับปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน จนในบางช่วง เขตเมืองบางแห่ง ถึงกับกลายเป็นปัญหาชุมชนลงข่าวหน้าหนึ่งเลยก็มี ต่อมา ปัญหาเริ่มลุกลามเข้าไปถึงชุมชนขนาดใหญ่หลายแห่ง จนถึงกับหยิบยกเอาเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน มาจัดอยู่ในอันดับต้นๆของท้องถิ่น หากมีการละเลยไม่ใส่ใจที่จะกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันแก้ไขอย่างได้ผลแล้ว จะทำให้กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น ถึงแม้ว่า จะมีกลุ่มองค์กรบางกลุ่มจะเคลื่อนไหวกระตุ้นมวลชนให้มีการลดการสร้างขยะ และการกำจัดมูลฝอยเองภายในครัวเรือนก็ตาม แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากชุมชนไม่เท่าที่ควร

                    การแก้ปัญหามูลฝอยที่เกิดจากครัวเรือนอย่างได้ผล จำเป็นต้องให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกให้เกิดความตระหนัก เห็นความสำคัญในการจัดการมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะ ผนวกด้วยมาตรการทางกฎหมาย ที่เกิดจากแนวคิดที่ว่า “ ผู้สร้างมูลฝอย ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการกำจัดด้วย ” มีอัตราค่าบริการในการกำจัด เพิ่มขึ้นตามปริมาณที่เกิดขึ้น บางประเทศกำหนดอัตราค่าบริการกำจัดมูลฝอยที่แพงมาก เช่น ญี่ปุ่น จนประชาชนจะต้องหาทางลดการสร้างขยะหรือกำจัดเอง ผลที่ตามมาคือความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดสะอ้านของบ้านเมือง การรณรงค์ให้แยกขยะเพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่ง ที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่จะต้องนำไปกำจัด

          •  การระบายน้ำเสียและน้ำผิวดิน (Drainage of Waste water and Surface water)

                    น้ำเสียที่เกิดจากการใช้น้ำในชีวิตประจำวันของผู้คนในอาคารบ้านเรือน ตลอดจนน้ำผิวดิน ในที่นี้หมายถึงน้ำฝนที่ตกลงมาขังในแอ่ง ในที่ลุ่ม ตามบริเวณรอบบ้าน หากมีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง ย่อมทำให้น้ำจากทั้งสองแหล่งเกิดปัญหา ทำให้เกิดความสกปรก เปรอะเปื้อน ขังเป็นแอ่ง กลายเป็นแหล่งวางไข่ของยุง แมลงวัน หรือแมลงนำโรคชนิดอื่นๆได้ เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น และมีสภาพที่ไม่น่าดูด้วย

                    โดยทั่วไป ปัญหาน้ำเสียมักจะเกิดขึ้นในเขตชุมชนเมือง ในบริเวณอาคารบ้านพักอาศัยที่มีระบบการระบายน้ำเสีย และน้ำฝนไม่ดีพอ เช่น ตึกแถว ชุมชนแออัด เป็นต้น แต่ในอาคารบ้านพักอาศัยส่วนใหญ่ จะมีกฎหมายควบคุม ดูแลไว้อยู่ด้วย ตัวอย่างเช่น ตามกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 33 พ . ศ .2535 ได้กำหนดให้มีการระบายน้ำฝนออกจากอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ จะระบายลงสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้งโดยตรงก็ได้ แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดภยันตรายต่อสุขภาพ ร่างกาย หรือทรัพย์สินหรือกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และระบบระบายน้ำเสียจะแยกเป็นอิสระเฉพาะอาคารหรือเป็นระบบรวมของส่วนกลางก็ได้ แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดเสียง กลิ่น ฟอง กาก หรือสิ่งอื่นใดที่เกิดจากการบำบัดนั้น จนถึงขนาดที่อาจเกิดภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สินกระทบกระเทือนต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อาศัยอยู่ใกล้เคียง น้ำเสียต้องผ่านระบบบำบัดน้ำเสียจนเป็นน้ำทิ้งก่อนระบายสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้ง โดยคุณภาพน้ำทิ้งให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่องกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งจากอาคาร

          •  สุขวิทยาส่วนบุคคล (Personal and Domestic Hygiene)

                    สุขวิทยาส่วนบุคคล เป็นเรื่องการดูแลความฉลาดและสุขภาพของบุคคลให้อยู่ในสภาพดี ไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ ในครอบครัว หรือไม่มีพฤติกรรมที่จะนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของตนเอง เช่น การชำระล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่หลังจากอุจจาระ ปัสสาวะ หรือการล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร การตัดเล็บให้สั้น การสระผม อาบน้ำชำระล้างร่างกายอยู่เสมอ การซักเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มอยู่เป็นนิจ เครื่องนอนมีการซัก การผึ่งแดด ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับตัวบุคคล และคนภายในครอบครัวแล้ว

                    หากบุคคลภายในครอบครัวเกิดการเจ็บป่วย จำเป็นต้องแยกตัวออกไปต่างหากและรีบรักษาพยาบาลให้หายโดยเร็ว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นๆ นอกจากนี้ ยังควรคำนึงถึงความสะดวก เป็นระเบียบเรียบร้อยภายในบ้าน ควรหมั่นทำความสะอาด เช็ดถู ขอบประตูหน้าต่าง บานมุ้งลวด พื้น ผนังห้องจะต้องปราศจากฝุ่น คราบ สิ่งสกปรก หยากไย่ หรือสิ่งอื่นใดที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย เป็นการจัดสภาวะแวดล้อมให้มีสุขลักษณะที่ดี น่าอยู่ น่าอาศัย และปลอดภัยจากอันตราย และเชื้อโรค

          •  โครงสร้างของบ้านสามารถป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ (Structural Safeguards against Disease Transmission)

                    บ้านพักอาศัยที่มีการออกแบบให้มีโครงสร้างที่ดี และถูกสุขลักษณะ จะช่วยป้องกัน การแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ มีการแบ่งพื้นที่ว่างภายในบ้านอย่างเหมาะสมเป็นสัดส่วน ไม่อยู่อย่างแออัดยัดเยียด มีการระบายอากาศที่ดี การก่อสร้างบ้าน โดยป้องกันไม่ให้แมลงและสัตว์ฟันแทะ จำพวกหนู สามารถเข้าไปอยู่อาศัยภายในบ้านได้ เช่น ช่องใต้ประตู หน้าต่างมุ้งลวด เพื่อป้องกันยุงและแมลงเข้าไปในบ้านพักอาศัยได้ เป็นต้น การระบายอากาศและการอยู่อาศัยที่ไม่แออัดจนเกินไป จะช่วยลดปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจได้ เช่น วัณโรค โรคปอดบวม หลอดลมอักเสบ โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ หรือโรคที่เกิดจากอากาศเป็นสื่อนำ เช่น การอักเสบเยื่อบุ โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคไอกรน ฯลฯ

 

4. การป้องกันอุบัติเหตุ (Protection against Accidents)

          อุบัติเหตุหมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้คาดคิดไว้ล่วงหน้า หรือไม่มีเจตนาทำให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นแล้ว มีผลก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวบุคคลหรือทรัพย์สินต่างๆ ได้

          อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในที่อยู่อาศัย ทั้งในบริเวณตัวบ้านหรือบริเวณนอกบ้าน ซึ่งอยู่ภายในรั้วบ้านก็ตาม มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อกับสมาชิกคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนในบ้าน โดยเฉพาะภายในที่อยู่อาศัยที่ขาดมาตรการป้องกันอุบัติเหตุ ผลของอุบัติเหตุอาจทำให้สมาชิกในบ้านบาดเจ็บตั้งแต่เล็กน้อย จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรืออาจมีผลเฉพาะทำให้ทรัพย์สินภายในบ้านชำรุดเสียหายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเพียงอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะมีความเชื่อใจอยู่ว่าบ้านน่าจะเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุด เมื่อบุคคลอยู่ในบ้านจึงปล่อยตัวปล่อยใจอิสระ อาจเกิดการเผอเรอไม่ได้ทันระวังตัว จนเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันได้ ลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้โดยง่าย จึงนำมาจัดกลุ่มแบ่งแยกตามความคล้ายคลึงและความถี่ในการเกิดที่มีอยู่บ่อยๆ ดังนี้ คือ

          •  อุบัติเหตุอันเกิดจากการพลัดตกหกล้ม
                    อุบัติเหตุในลักษณะนี้ ได้แก่ การเดินพลัดตกจากบันได ตกจากหน้าต่าง ตกลงมาจากระเบียง หรือดาดฟ้า การพลัดตกจากเก้าอี้ เป็นต้น การออกแบบก่อสร้างและเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม จึงมีความสำคัญมาก เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ควรต้องทำราวบันได มีแถบกันลื่นที่บันไดแต่ละขั้น จัดให้มีแสงสว่างที่เพียงพอตรงบันได หรือตามบริเวณทางเดินภายในบ้านอย่างพอเพียง

          •  อุบัติเหตุอันเนื่องจากอัคคีภัย
                    อัคคีภัยหรือไฟไหม้ภายในบ้าน อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่สันนิษฐานกัน มักจะออกมาใน 2 ลักษณะคือ ไฟไหม้เนื่องจากไฟฟ้าลัดวงจร กับไฟไหม้เนื่องจากการจุดติดไฟของเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในบ้าน อาจเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม แหล่งที่อาจเกิดเพลิงไหม้ได้ง่ายคือบริเวณภายในครัว ซึ่งมีการหุงต้มอาหาร อาจลืมปิดแก๊สหุงต้ม แก๊สรั่ว หรือเกิดภายในห้องพระที่จุดเทียน ธูป แล้วลืมดับ การซุกซนของเด็กที่เล่นไม้ขีดไฟ และอีกมากมายหลายสาเหตุ รวมทั้ง ไฟฟ้าลัดวงจรเนื่องจากปลั๊กไฟเก่าหรือชำรุด การลัดวงจรไฟฟ้าที่สะพานไฟเนื่องจากการใช้ฟิวส์ไม่ได้ขนาดหรือเป็นวัสดุที่หลอมเหลวยาก ความเสียหายอาจไม่มาก ถ้าดับได้ทัน หรืออาจถูกเพลิงไหม้วอดไปทั้งหลังก็เป็นได้ จำเป็นอยู่ดีที่ผู้อยู่อาศัยต้องหมั่นตรวจตราความเรียบร้อยอยู่เสมอ โดยเฉพาะ การคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า และรีบหาทางป้องกันไว้ก่อน เช่น ควรจัดหาเครื่องควบคุมป้องกันกระแสไฟฟ้าดูด และลัดวงจรติดป้องกันไว้ ควรมีเครื่องดับเพลิงไว้ใช้ประจำบ้านยามฉุกเฉิน โดยติดตั้งไว้ทางเข้าออกของบ้าน โดยให้มีประตูอย่างน้อย 2 ทางอยู่ห่างจากกันคือ มีประตูหน้าและประตูหลังกว้างขวางพอที่จะเข้าออกได้สะดวก หากจำเป็นต้องติดลูกกรงเหล็กดัดเพื่อป้องกันโจร ผู้ร้าย ก็ควรทำเป็นแบบเปิดจากภายในได้ เมื่อเกิดเพลิงไหม้จะสามารถเปิดออกหนีจากอาคารได้อย่างปลอดภัย

          •  อุบัติเหตุอันเกิดจากไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าช็อต
                    อุบัติเหตุที่เกิดจากไฟฟ้านี้ มักเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจมีไฟฟ้ารั่วตามเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่ออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไปสัมผัสถูกเข้า เกิดการดูดหรือช็อตขึ้นได้ สายไฟฟ้าที่ชำรุด ปลอกหุ้มแตกปริ เมื่อมือที่เปียกน้ำสัมผัสเข้าก็เกิดไฟฟ้าช็อตได้ ควรหมั่นตรวจสอบสภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติที่เป็นสาเหตุของไฟฟ้ารั่ว ควรรีบดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขโดยทันที เช่นเดียวกับสายไฟฟ้า ต้องเลือกใช้สายไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เป็นต้น การเดินสายไฟอย่างถูกต้อง การให้ความรู้แก่คนในบ้านเกี่ยวกับวิธีแก้ไขเหตุฉุกเฉินอย่างปลอดภัย

          •  อุบัติเหตุอันเกิดจากพิษของสารเคมีหรือสารพิษ
                    ในปัจจุบันมีการนำเอาสารเคมีมาใช้ในบ้านมากขึ้น เช่น สารฆ่าแมลงฉีดฆ่ายุง มด แมลงสาบ น้ำยาล้างห้องน้ำ คลอรีน ยารักษาโรคชนิดต่างๆ เครื่องสำอาง เป็นต้น ปัญหาเกิดจากการใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือการใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือการใช้ที่ผิดพลาด เช่น การกินยาที่ระบุให้ใช้ภายนอก การกินยาเกินขนาด หรือการใส่ปุ๋ยเคมีลงในอาหารโดยคิดว่าเป็นน้ำตาลทราย การใช้สารฆ่าแมลงชนิดผงละเอียดโดยคิดว่าเป็นแป้งสำหรับทำอาหาร เป็นต้น

          •  อุบัติเหตุอันเกิดจากของมีคม
                    ของมีคมที่ใช้กันในบ้านพักอาศัย ได้แก่ มีด กรรไกร กระจก สิ่ว ฯลฯ เป็นเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาจเกิดอุบัติเหตุได้จากการไม่ระมัดระวัง อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ การเหยียบเศษแก้วที่แตกบนพื้น การเดินชนกระจกใสที่ใช้ทำเป็นบานประตู หรือหน้าต่าง เพื่อทำให้เกิดความสวยงามและเป็นการเพิ่มแสงสว่างจากภายนอก หากไม่ได้ติดสติ๊กเกอร์หรือคำเตือน “ ระวังชนกระจก ” แล้ว อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อร่างกายขึ้นได้

          •  อุบัติเหตุอันเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์
                    อุบัติเหตุเช่นนี้ เกิดจากพฤติกรรมอันไม่ปลอดภัยของมนุษย์ (Unsafe Acts) นั่นเอง เช่น การหยอกล้อกันขณะทำงาน การซ่อมแซมแก้ไขไฟฟ้าภายในบ้านโดยขาดความรู้ที่ถูกต้อง การรับประทานยาที่ทำให้มีอาการง่วงซึมแล้วเดินสะดุดหกล้ม การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จนเกิดอาการมึนเมา เดินขึ้นบันไดบ้านโดยไม่จับราวบันไดแล้วพลัดตกลงไป ตลอดจน พฤติกรรมอื่นๆ ที่ผิดพลาดจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

 

ที่มา  http://cyberclass.msu.ac.th/cyberclass/cyberclass-uploads/libs/html/31823/unit6.html