Home » อสังหาฯ บ้าน คอนโด ที่ดิน » คำแนะนำการเขียนหนังสือมอบอำนาจ การทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดิน

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
คำแนะนำการเขียนหนังสือมอบอำนาจ การทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดิน

โดยหมอที่ดิน อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

1. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการมอบอำนาจ

การมอบอำนาจ คือ การที่บุคคลหนึ่งเรียกว่า ตัวการ มอบให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ตัวแทน มีอำนาจทำการแทน และการกระทำนั้นมีผลทาง กฎหมายเสมือนว่าตัวการทำด้วยตนเอง

การมอบอำนาจให้ทำกิจการใด ถ้าหากกฎหมายกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือการมอบอำนาจให้ทำกิจการนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย เช่น การซื้อขายที่ดินกฎหมายกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือ การมอบอำนาจให้ขายที่ดินก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย โดยจะใช้แบบพิมพ์ของกรมที่ดินหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีสาระสำคัญครบถ้วน แต่เพื่อความสะดวก ควรใช้แบบพิมพ์ของกรมที่ดิน โดยผู้นั้นจะต้องทำหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือให้ผู้ไปทำการแทน จะต้องมอบบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านตัวจริง ของผู้มอบอำนาจให้กับผู้รับมอบอำนาจไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ เหตุที่ต้องเอาตัวจริง เพราะถ้าจะมีการปลอมแปลงหนังสือมอบอำนาจก็จะต้องทำการปลอมบัตรประชาชน ทะเบียนบ้านด้วย ทำให้ทำทุจริตได้ยากขึ้น หากใช้แต่ภาพถ่ายก็ทำปลอมง่ายซึ่งเรื่องนี้จะต้องเข้าใจว่าสำนักงานที่ดินต้องการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน(เจ้าของที่ดินและคนซื้อ) ไม่ใช่เพื่อการตุกติกให้ล่าช้าแต่อย่างใด 

หนังสือมอบอำนาจมีอยู่ 2 แบบ สำหรับที่ดินมีโฉนดแล้วแบบหนึ่งกับที่ดินที่ยังไม่มีโฉนด(หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเช่นบ้านอย่างเดียว)  อีกแบบหนึ่ง หากจะใช้กระดาษอื่นควรเขียนข้อความอนุโลมตามแบบพิมพ์ของกรมที่ดิน เพราะจะได้รายการที่ชัดเจนและถูกต้อง (ไปเข้าเว็บกรมที่ดินที่ http://www.dol.go.th ดาวน์โหลดแบบพิมพ์ใบมอบอำนาจได้)

คำเตือนเพื่อรักษาประโยชน์ของเจ้าของที่ดินและผู้ที่เกี่ยวข้อง (ข้อความหลังใบมอบอำนาจ)

1. ให้กรอกเครื่องหมายหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินหรือ อสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เช่น ตึก,บ้านเรือน,โรง,ให้ชัดเจน
2. ให้ระบุเรื่องและอำนาจจัดการให้ชัดเจนว่า มอบอำนาจให้ทำอะไร เช่น ซื้อขายจำนอง ฯลฯ ถ้ามีเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติมก็ให้ระบุไว้ด้วย
3.อย่ากรอกข้อความให้ต่างลายมือและใช้น้ำหมึกต่างสีกันถ้าใช้เครื่องพิมพ์ดีดก็ต้องเป็นเครื่องเดียวกัน
4. ถ้ามีการขูดลบ ตกเติม แก้ไข ขีดฆ่า ให้ระบุว่า ขีดฆ่าตกเติมกี่คำ และผู้มอบอำนาจต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วยทุกแห่ง
5. อย่าลงลายมือชื่อผู้มอบอำนาจ ก่อนกรอกข้อความครบถ้วน และถูกต้องตามความประสงค์แล้วหรืออย่าลงชื่อในกระดาษเปล่าซึ่งยังมิได้กรอกข้อความเป็นอันขาด
6. ให้มีพยานอย่างน้อย 1 คน ถ้าผู้มอบอำนาจพิมพ์ลายนิ้วมือต้องมีพยาน 2 คน พยานต้องเซ็นชื่อจะพิมพ์ลายนิ้วมือไม่ได้ 
7. หนังสือมอบอำนาจทำในต่างประเทศควรให้สถานทูตหรือสถานกงสุลหรือโนตารีปับลิค (notary public) รับรองด้วย

บางเรื่องผู้มอบอำนาจเป็นผู้รับมอบอำนาจจากทั้งสองฝ่ายคือเป็นตัวแทนทั้งฝ่ายผู้โอน และผู้รับโอนในกรณีเช่นนี้ผู้ มอบอำนาจจะต้องระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจด้วยว่า ยินยอมให้ผู้รับมอบเป็นผู้แทนอีกฝ่ายหนึ่งได้ด้วย (มาตรา 805 แห่ง ป.พ.พ.)

ในส่วนผู้รับซื้อหรือผู้รับสิทธิในนิติกรรมมีหน้าที่ระมัดระวังด้วยโดยจะต้องรู้จักตัวเจ้าของที่ดินที่แท้จริง ต้องรู้จักเจ้าของที่ดินว่ามีตัวตนและมีชีวิตอยู่หรือไม่ มีเจตนาจะขายที่ดินจริงหรือไม่ หากไม่รู้จักเจ้าของที่ดินที่แท้จริงเสียเลยย่อมเป็นการผิดวิสัย ถ้าไม่แน่ใจก็อาจขอตรวจดูหลักฐานที่ดินที่สำนักงานที่ดินก่อนได้

 

2. คำชี้แจงเพิ่มเติมจากผู้เขียน

1. ให้ลอกเครื่องหมายที่ดินจากตัวโฉนดใส่ให้ครบทุกช่อง (ลอกให้หมดแม้ข้อความในวงเล็บ/ถ้ามีด้วย เช่น อำเภอเมือง(นครชัยศรี)) ซึ่งข้อความในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว ยกเว้นเพียงคำว่า เลขที่........ซึ่งคนส่วนมากจะสงสัยว่าเลขที่อะไร เลขที่.......ในที่นี้หมายถึงเลขที่ดิน...กับอีกเรื่องหนึ่งการนับอายุจะต้องนับปีย่างไม่ใช่ครบปีบริบูรณ์ เช่น 21 ปีบริบูรณ์เวลากรอกต้องใส่ว่า 22 ปี ทางที่ดินเขาถือปฏิบัติอย่างนี้มาตลอด

2. การเขียนหนังสือมอบอำนาจไม่มีข้อความตายตัว ตัวอย่างที่ยกมาให้ดูนี้มุ่งให้มีความชัดเจนที่สุดไม่ให้เกิดข้อสงสัย ข้อความจึงอาจต่างจากที่เคยพบเห็นได้ และบางกรณีผู้เขียนเองก็จงใจจะใช้ข้อความที่ให้แตกต่างหรือสลับลำดับกันออกไปบ้าง ก็เพื่อให้เห็นว่าอย่างนี้ก็ใช้ได้ ในการกรอกข้อความถ้าหากช่องว่างไม่พอก็ให้เขียนลงไปในที่ว่างที่ต่อเนื่องกันได้จนครบข้อความที่ต้องการเขียน และให้สังเกตว่าจะต้องจบลงด้วยคำว่า “ตลอดจนให้ถ้อยคำต่าง ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่” เสมอ เพราะการมอบอำนาจให้ดำเนินการใด ๆ จะต้องมีการสอบสวนให้ถ้อยคำยืนยันเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำนิติกรรมเสมอ

3. เนื่องจากข้อความต่าง ๆ เป็นไปตามแบบพิมพ์แล้ว จะมีส่วนที่เปลี่ยนแปลงก็เฉพาะชื่อเรื่องกับสิ่งที่มอบหมายให้ดำเนินการเท่านั้น การให้ตัวอย่างจึงจะยกแต่ชื่อเรื่องและการมอบให้จัดการ รวมทั้งลักษณะเหตุการณ์จริงที่ทำให้เกิดการมอบอำนาจเท่านั้น (ให้พิจารณาเลือกตัวอย่างให้ตรงกับลักษณะเหตุการณ์จริง บางกรณีก็ดัดแปลงขอความเอาเองได้ตามรูปเรื่อง)

4. หนังสือมอบอำนาจหนึ่งฉบับจะมีคนมอบอำนาจร่วมกันหลายคนก็ได้ แต่ควรเป็นการมอบให้ขายด้วยกัน หรือซื้อด้วยกัน เพราะข้อความจะไม่สับสน และต้องกรอกอายุ ชื่อพ่อแม่ ให้ถูกต้องตรงกับลำดับชื่อคนมอบด้วย แต่ถึงแม้ว่าจะมอบอำนาจในฉบับเดียวกันได้ ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ แล้วไม่ควรมอบอำนาจในฉบับเดียวกัน

5. หนังสือมอบอำนาจฉบับเดียวกันจะมอบให้ดำเนินการหลายเรื่องก็ได้ไม่มีข้อห้าม แต่ต้องเขียนให้ชัดอย่าสับสน

6. หนังสือมอบอำนาจต้องให้มีพยานเซ็นด้วยหนึ่งคน การให้คู่สมรสของผู้มอบอำนาจเซ็นเป็นพยานก็เป็นสิ่งที่ทำได้ และทำหนังสือยินยอมให้คู่สมรสทำนิติกรรมควบคู่ไปด้วย

7.ในการพิมพ์นิ้วมือ กรมที่ดินให้ใช้พิมพ์หัวแม่มือซ้าย ไม่ใช่ข้างขวา เรื่องนี้เป็นวิธีการปฏิบัติมาแต่ต้นแล้วเพราะเขาเห็นว่ามือขวาส่วนใหญ่ใช้งานหนักลายมืออาจสึกมากกว่าด้านซ้าย(ไม่ต้องถามว่าแล้วคนถนัดซ้ายล่ะ นั่นมันก็จริงแต่เขาเอาส่วนใหญ่ไว้ก่อน)

8. หนังสือมอบอำนาจเมื่อทำขึ้นแล้วต้องรีบไปดำเนินการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากปล่อยไว้นานไปเจ้าหน้าที่อาจไม่ดำเนินการให้ เพราะไม่แน่ใจว่าผู้มอบอำนาจยังมีชีวิตอยู่ หรือว่ามีการยกเลิกหนังสือมอบอำนาจหรือไม่

9. กรณีที่คิดว่าจะเ็ซ็นชื่อไม่คล้ายลายเซ็นเดิม และไม่สามารถไปดำเนินการด้วยตัวเองได้จริง ๆ ให้ผู้มอบอำนาจไปติดต่อที่อำเภอ เพื่อทำหนังสือมอบอำนาจต่อหน้านายอำเภอ ซึ่งนายอำเภอจะดำเนินการให้และจะพิมพ์ข้อความรับรองว่าได้เซ็นต่อหน้าและประทับตรารับรองมาด้วย ปกติเมื่อเจ้าหน้าที่ที่ดินเห็นมีคำรับรองมาก็จะดำเนินการจดทะเบียนให้ (แน่นอนว่าหลังตรวจสอบข้อมูลอื่น ๆ แล้วไม่ผิดพลาด)แม้ว่าลายเซ็นจะไม่คล้ายของเดิม มากนักก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามถ้าลายเซ็นผิดเพี้ยนไม่มีเค้าเดิมเลย เจ้าหน้าที่ก็อาจไม่ดำเนินการให้ เพราะปกติถ้ามาดำเนินการด้วยตนเองและลืมว่าเดิมเซ็นอย่างไร แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ให้ดูลายเซ็นเดิมก็มักจะจำได้ และเซ็นได้แบบมีเค้าเดิมมากและบางครั้งก็เซ็นได้
 

ตัวอย่างการเขียนหนังสือมอบอำนาจ

เนื่องจากข้อความต่าง ๆ เป็นไปตามแบบพิมพ์แล้ว จะมีส่วนที่เปลี่ยนแปลงก็เฉพาะในช่อง “เรื่อง” กับช่อง “เป็นผู้มีอำนาจจัดการ” การให้ตัวอย่างจึงจะยกแต่ชื่อเรื่อง และการมอบหมายให้จัดการ รวมทั้งลักษณะเหตุการณ์จริงที่ทำให้เกิดการมอบอำนาจเท่านั้น (ให้พิจารณาเลือกตัวอย่างให้ตรงกับลักษณะเหตุการณ์จริงลักษณะของข้อเท็จจริงที่มีการมอบอำนาจและดัดแปลงข้อความเอาเองได้ตามรูปเรื่อง) 
 

กรุณาอ่านต่อที่... http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=landclinic&group=15