Home » อสังหาฯ บ้าน คอนโด ที่ดิน » ความปลอดภัย 'โครงสร้างบ้านและอาคาร' หลังน้ำท่วม

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ความปลอดภัย 'โครงสร้างบ้านและอาคาร' หลังน้ำท่วม

prachachat.net วันที่ 08 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
คลายปม 11 ประเด็นข้อสงสัย ความปลอดภัย "โครงสร้างอาคาร" หลังน้ำท่วม

          องค์ความรู้จากสายวิชาชีพเฉพาะยังคงหลั่งไหลเข้ามาไม่หยุด ล่าสุดพันธมิตรคือ "รศ.ดร. อมร พิมานมาศ" แห่งสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน นำเสนอบทความเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาโครงสร้างอาคารหลังจากน้ำท่วมและอาคารถูกแช่น้ำเป็นแรมเดือนจะเป็นอย่างไร

ประเด็นข้อสงสัย ความปลอดภัย "โครงสร้างอาคาร" หลังน้ำท่วม มีทั้งหมด 11 ประเด็น ดังนี้

"ประเด็นที่ 1" โครงสร้างบ้านเรือนมีความแข็งแรงต่อการต้านทานแรงดันน้ำได้ขนาดไหน

        ปกติแล้วโครงสร้างบ้านเรือนที่สร้างจากคอนกรีตซึ่งมีการเสริมเหล็กเส้นอยู่ข้างในจะค่อนข้างแข็งแรงกว่าบ้านที่สร้างด้วยไม้ และออกแบบ+ก่อสร้างถูกต้องตามมาตรฐานทางวิศวกรรม ก็ค่อนข้างจะแน่ใจได้ระดับหนึ่งว่าจะสามารถต้านแรงดันน้ำในระดับความสูงไม่เกิน 2 เมตร โดยไม่ทำให้โครงสร้างเสียหายรุนแรงหรือพังทลาย

"ประเด็นที่ 2" โครงสร้างส่วนใดที่มีโอกาสที่จะได้รับความเสียหายจาก น้ำท่วมได้มาก

       "อ.อมร" มองว่า ผนังอิฐก่อ พื้นของชั้นล่างของอาคารที่จมน้ำ จะเป็นส่วนที่ได้รับความเสียหายมากกว่าส่วนอื่น ๆ เนื่องจากมีพื้นที่ปะทะน้ำมากกว่า

        คิดดูง่าย ๆ น้ำที่สูง 1 เมตรจะมีแรงดันถึง 1 ตัน หรือ 1000 กิโลกรัม/ตารางเมตร แต่ผนังอิฐหรือพื้นคอนกรีตไม่ได้ออกแบบให้ต้านแรงดันน้ำได้สูงขนาดนั้น เช่น ผนังอิฐส่วนใหญ่จะรับแรงดันได้ราว ๆ 100-200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ส่วนพื้นคอนกรีตโดยทั่วไปจะออกแบบให้รับน้ำหนักได้ประมาณ 200-300 กิโลกรัมต่อตารางเมตรเท่านั้น

        ดังนั้นระดับน้ำที่สูง 1 เมตร-2 เมตรอาจจะทำให้กำแพงแตกพังทลาย หรือพื้นรับน้ำหนักมากเกินไปจนแอ่นตัวได้

"ประเด็นที่ 3" โอกาสแตกร้าวเสียหายของโครงสร้างคานกับเสา

       พบว่ากรณีคานกับเสาที่มีขนาดเล็กเกินไป เช่น เสาที่มีขนาดเล็กกว่า 20 ซ.ม. และอาคารบ้านจัดสรรที่นิยมใช้ชิ้นส่วนสำเร็จรูป อาจมีปัญหาที่รอยต่อระหว่างชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่นำมาประกอบกันเป็นโครงสร้างอาคาร คานกับเสาอาจจะได้รับความเสียหาย โดยอาจสังเกตเห็นรอยแตกร้าวในคานและเสา

        แต่บางครั้งอย่าเพิ่งกลัวจนเกิดเหตุ บางทีรอยแตกร้าวที่เห็นอาจปรากฏเฉพาะในส่วนที่เป็นผิวปูนฉาบเท่านั้น โดยที่ตัวโครงสร้างจริง ๆ อาจจะยังไม่เสียหาย ดังนั้นเพื่อความแน่ใจ หากพบรอยแตกร้าวหรือเนื้อปูนกะเทาะออกมาควรรีบปรึกษาวิศวกร ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือ หากเสามีขนาดเล็กไม่ได้มาตรฐานก็อาจหักจนเห็นเหล็กดุ้ง

        นอกจากนี้ โครงสร้างที่แช่น้ำอยู่เป็นเวลานานเหล็กเสริมก็อาจเกิดสนิมขึ้นได้เช่นกัน จึงต้องรีบซ่อมแซม มิฉะนั้นสนิมอาจลามจนแก้ไขไม่ทัน

"ประเด็นที่ 4" ฐานราก

        ในทางวิศวกรรม ฐานรากมี 2 ชนิดคือ ฐานรากที่วางบนดิน และฐานรากที่วางบนเสาเข็ม

        ฐานรากวางบนดินมีโอกาสน้ำซึ่งไหลผ่านไปกัดเซาะดินใต้ฐานราก หลังจากน้ำลดแล้วอาจจะเห็นฐานรากซึ่งเคยฝังอยู่ใต้ดินโผล่ขึ้นมา เมื่อดินถูกชะไปจะทำให้ฐานรากทรุด อาจทำให้โครงสร้างสูญเสียการทรงตัวจนพังทลายได้

         ในกรณีฐานรากบนเสาเข็มสั้น ๆ กำลังรับน้ำหนักของเสาเข็มอาจจะลดลงเมื่ออยู่ในดินที่ชุ่มน้ำ อาจทำให้กำลังรับน้ำหนักลดลงได้เช่นกัน

       "อีกจุดหนึ่งที่ผมค่อนข้างเป็นห่วงคือ ฐานรากที่จมอยู่ใต้น้ำ 1-2 เมตรจะเกิดแรงดันน้ำยกบ้านให้ลอยขึ้น โดยเฉพาะหากเป็นบ้านชั้นเดียวที่มีน้ำหนักไม่มาก และไม่ได้ใส่เหล็กเดือยยึดเสาเข็มกับฐานรากเข้าไว้ด้วยกัน อาจทำให้ตัวบ้านลอยเคลื่อนออกจากฐานราก ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก"

"ประเด็นที่ 5" อาคารที่มีชั้นใต้ดิน

        ข้อระวังคืออาจมีน้ำท่วมขังนานกว่าปกติ การระบายน้ำออกต้องระมัดระวัง เพื่อรักษาระดับแรงดันน้ำให้สมดุลทั้งภายในและภายนอกอาคาร

        ข้อแนะนำคือ ก่อนที่จะเริ่มระบายน้ำออกจากชั้นใต้ดินต้องรอให้ระดับน้ำด้านนอกลดลงจนหมดเสียก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ ระบายน้ำจากชั้นใต้ดินวันละ 0.5 เมตร ทำเครื่องหมายระดับน้ำไว้ จากนั้นวันรุ่งขึ้นเช็กระดับน้ำที่ทำเครื่องหมายไว้ หากระดับน้ำไม่เพิ่มขึ้นให้สูบออกอีก 0.5 เมตรแล้วรอดูวันถัดไป แต่หากระดับน้ำสูงขึ้นแสดงว่าแรงดันน้ำด้านนอกยังสูงอยู่ ต้องรอให้แรงดันน้ำด้านนอกลดลงเสียก่อนจึงจะเริ่มสูบน้ำออกต่อไปได้

"ประเด็นที่ 6" โครงสร้างอาคารที่รับได้ความเสียหายจะซ่อมแซมยังไง

คำตอบขึ้นกับระดับความเสียหาย สรุปพอเป็นแนวทางดังนี้

  1. คานและเสา หากมีรอยแตกร้าวแต่ยังไม่ถึงขั้นบิดเบี้ยวเสียรูป อาจซ่อมแซมรอยแตกร้าวด้วยการฉีดกาวอีพอกซี่เข้าไป และหากเหล็กเสริมเป็นสนิมจำเป็นต้องขัดเอาสนิมออกแล้วทาสีกันสนิม เสริมเหล็กเพิ่มเติมแล้วพอกคอนกรีตกลับไปเช่นเดิม
  2. หากเสาหักหรือขาด ต้องรีบให้ช่างหาเสาเหล็กหรือเสาไม้มาตู๊โครงสร้างโดยด่วน เนื่องจากเสาที่หักจะรับน้ำหนักไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นโครงสร้างอาจจะถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ จะต้องรีบปรึกษาวิศวกร การแก้ไขต้องทุบเสาทิ้งและหล่อเสาขึ้นใหม่
  3. พื้นหรือกำแพงที่ถูกแรงดันน้ำดันจนแอ่นตัวหรือทรุดตัว จะถือว่าพื้นหรือกำแพงนั้นใช้การไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนใหม่ หากเป็นกำแพงให้ก่ออิฐขึ้นใหม่ หากเป็นพื้นต้องทุบทิ้ง จากนั้นผูกเหล็กแล้วเทคอนกรีตใหม่
  4. ในกรณีที่ตัวบ้านหลุดหรือเคลื่อนจากฐานราก จะเป็นอันตรายต่อโครงสร้างมาก เพราะเท่ากับว่าบ้านไม่ได้รองรับด้วยฐานรากอีกต่อไป จะต้องยกอาคารและทำฐานรากใหม่ ซึ่งทำเองไม่ได้ ต้องปรึกษาวิศวกรที่ชำนาญทางด้านนี้โดยตรง

"ประเด็นที่ 7" นอกจากโครงสร้างอาคารแล้วต้องดูอะไรอีกบ้าง

อาคารบ้านเรือนยังประกอบด้วยระบบบริการอีก 4 ระบบ ได้แก่

(1) ระบบงานสถาปัตยกรรม เช่น พื้นปาร์เกต์ สีที่ทาผนัง วอลล์เปเปอร์ ประตู หน้าต่าง และอื่น ๆ

(2) ระบบสุขาภิบาล ได้แก่ ระบบระบายน้ำ และระบบน้ำประปา

(3) ระบบไฟฟ้า เช่น ระบบแสงสว่าง และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ

(4) ระบบเครื่องกล เช่น เครื่องปรับอากาศ ปั๊มน้ำ เป็นต้น

ระบบพวกนี้ต้องตรวจดูด้วยว่าเสียหายแค่ไหน และต้องเรียกวิศวกรหรือช่างที่ชำนาญมาดูความเสียหาย เอกสารที่แนะนำให้ดูเป็นแนวทางคือ คู่มือการตรวจสอบและซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนหลังน้ำท่วม ของกรมโยธาธิการและผังเมือง

"ประเด็นที่ 8" การเตรียมตัวเข้าสำรวจความเสียหายหลังน้ำลด

       มีสิ่งที่ต้องเตรียมคือ ดินสอ ปากกา กระดาษ กล้องถ่ายรูป อุปกรณ์ต่าง ๆ ไขควง ตลับเมตร ท่อนไม้แห้ง ๆ และควรสวมรองเท้าบูตหรือรองเท้าเซฟตี้เพื่อป้องกันเศษแก้ว ตะปู ของมีคม

       ก่อนที่จะเดินเข้าไปในบ้าน สิ่งแรกคือให้สำรวจรอบ ๆ บ้านก่อนเข้าไปในบ้าน ให้เคลื่อนย้ายเศษสิ่งของเกะกะ และควรเข้าตรวจสอบในช่วงเวลากลางวัน ที่สำคัญคือต้องเตรียมไฟฉาย เนื่องจากจะไม่เปิดไฟฟ้าเด็ดขาด ให้สังเกตด้วยว่ามีกลิ่นแก๊สรั่วออกมาจากบ้านหรือไม่ ห้ามทำให้เกิดเปลวไฟหรือสูบบุหรี่เด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ตามมา

"ประเด็นที่ 9" ข้อระวังเรื่องความปลอดภัย

        ควรอยู่ห่างจากสายไฟที่ห้อยร่วงลงมาในน้ำ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าได้ตัดไฟแล้วหรือยัง จะต้องระลึกเสมอว่าสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากเป็นลำดับที่สองรองจากจมน้ำคือไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าชอร์ต ดังนั้นจึงห้ามเปิดสะพานไฟหรือเปิดแก๊สเด็ดขาด และที่ตู้ไฟหรือเซอร์กิต เบรกเกอร์ต้องตัดไฟทันที โดยให้ยืนอยู่ในจุดที่แห้งแล้วใช้ไม้หรือแท่งพลาสติกที่แห้งเป็นอุปกรณ์ในการโยกคันเบรกเกอร์ลง หากไม่แน่ใจอย่าเสี่ยงทำเอง ควรเรียกช่างไฟฟ้ามาดำเนินการจะดีกว่า

"ประเด็นที่ 10" เดินเข้าไปในบ้านมีข้อควรระวังอะไรบ้าง

        สิ่งแรกคือต้องดูว่า ฝ้าเพดานมีความเสียหายและมีโอกาสร่วงลงมาได้หรือไม่ เนื่องจากหากน้ำท่วมถึงฝ้าเพดานทำให้ฝ้าเพดานซึ่งอุ้มน้ำอยู่จะมีน้ำหนักมาก และมีโอกาสร่วงลงมาทับเราได้ เวลาเดินต้องระวังพื้นที่อาจจะลื่นเนื่องจากพื้นอาจมีคราบโคลนที่ติดอยู่

        เมื่อเข้าไปภายในบ้านแล้วให้เปิด ประตูและหน้าต่างออกให้หมด เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้อย่างสะดวก เป็นการช่วยกำจัดความชื้นภายในบ้านและขจัดแก๊สที่ไม่พึงปรารถนาออกไป ที่สำคัญต้องระวังเศษไม้ ตะปู และสัตว์เลื้อยคลานเช่น งู ตะขาบ ซึ่งอาจหนีน้ำเข้ามาพักในบ้านด้วย

"ประเด็นที่ 11" ชาวบ้านจะขอคำปรึกษาได้จากใคร

        หน่วยงานที่จะให้ข้อมูลได้คือหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กทม. การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง และอื่น ๆ อีกหน่วยงานหนึ่งคือ "วสท.-วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย" เป็นองค์กรวิศวกรรมที่มีวิศวกรอาสาช่วยตรวจสอบอาคารจำนวนมาก โดยการดำเนินงานผ่านทางคลีนิกช่างของ วสท.