Home » บทความทั่วไป ความรู้น้ำท่วม » คู่มือ สู้ภัยหนาว รับมืออากาศที่หนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
คู่มือ สู้ภัยหนาว รับมืออากาศที่หนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี

 

ไทยรัฐออนไลน์ วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2553

'คู่มือสู้ภัยหนาว'รับมืออากาศที่หนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี

คู่มือสู้ภัยหนาวกับ "ไทยรัฐออนไลน์" รับมือสภาพอากาศที่หนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี หลายจังหวัดต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน และมีผู้เสียชีวิตจากภัยหนาวทั่วประเทศแล้ว...

หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศของประเทศไทยว่า ปีนี้อากาศจะหนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี และจะหนาวเย็นยาวนานเช่นนี้ไปทุกปี ทำให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยหนาว ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในพื้นที่จังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินขึ้น เพื่อติดตามวิเคราะห์สถานการณ์ และดำเนินงานช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อน พร้อมทั้งจัดตั้งคลินิกพิเศษในโรงพยาบาล หรือจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ให้บริการรักษาผู้เจ็บป่วยในพื้นที่ห่างไกลเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากสภาพอากาศหนาวเย็น

ขณะที่สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้กำหนดนิยามและรายงาน "ผู้เสียชีวิตจากภัยหนาว" ว่าต้องเสียชีวิตในหรือนอกที่พักอาศัย บ้าน อาคาร สถานที่ โดยไม่ได้มีเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องห่มกันหนาวอย่างเพียงพอ ในจังหวัดที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยหนาวเท่านั้น จากรายงานพบว่า ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.-18 ธ.ค. มีผู้เสียชีวิตหลายราย

จากข้อมูลยังพบว่า การเสียชีวิตจากภัยหนาว อาจมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยผู้ที่เสียชีวิตเป็นเพศชายร้อยละ 77.8, มีอาชีพรับจ้างร้อยละ 44.5, เสียชีวิตนอกบ้านร้อยละ 44.5, ในบ้านร้อยละ 38.8 และมีพฤติกรรมเสี่ยงที่น่าสนใจคือ การดื่มสุราและใช้ยาหรือสารเสพติด โดยร้อยละ 55.6 ดื่มสุราเป็นประจำหรือดื่มก่อนเสียชีวิต และร้อยละ 16.7 ใช้ยาชูกำลังและมีประวัติใช้สารเสพติด

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่มีประวัติการมีโรคประจำตัว มีโอกาสเสียชีวิตได้ง่ายหากอากาศหนาวเย็น เพราะผู้เสียชีวิตบางคน มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หอบหืด ความดันโลหิตสูง ปอดเรื้อรัง เป็นต้น โดยเฉพาะอาการหอบหืดที่ควรมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ส่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย รายงานสถานการณ์ภัยหนาวว่า มีพื้นที่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยหนาวแล้ว 20 จังหวัด 262 อำเภอ แบ่งเป็นภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน น่าน ลำพูน เชียงราย เพชรบูรณ์ ตาก ลำปาง และแพร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัดเช่นกัน ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี สกลนคร เลย ขอนแก่น นครพนม หนองคาย กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม และอุบลราชธานี

สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ที่สำคัญคือกลุ่มเด็กที่มีอายุตำ่กว่า 5 ปี กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน หัวใจ และหลอดเลือด หอบหืด ปอดเรื้อรัง ตับ ไต และโลหิตจาง ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานต่ำต่อโรค เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย และ เมื่อป่วยจะมีอาการรุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป จึงควรระมัดระวังการเจ็บป่วยจากโรค ซึ่งมักพบบ่อยในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด หัดเยอรมัน สุกใส และอุจจาระร่วง รวมถึงโรคที่เกิดจากสภาพอากาศที่แห้ง เช่น โรคผิวหนัง

ข้อควรปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไปนั้น ควรรักษาความอบอุ่นของร่างกาย ด้วยการสวมเสื้อผ้าหนาๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่สภาพร่างกายเปลี่ยนแปลงได้ง่าย และควรดื่มน้ำและเครื่องดื่มอุ่นๆ เพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายและความชุ่มชื้นให้กับร่างกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

สำหรับสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด คือ การดื่มสุรา ที่เข้าใจว่าจะช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างยิ่ง ห้ามผิงไฟในเต็นท์ เพราะจะทำให้สารพิษเข้าสู่ทางเดินหายใจ ห้ามนำเด็กเข้าใกล้บริเวณก่อไฟ เพราะควันไฟจะระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจเด็ก ห้ามนอนในที่แจ้ง ลมโกรก โดยไม่มีเครื่องป้องกันให้ความอบอุ่นร่างกาย ห้ามอยู่ในสถานที่แออัด ทำให้ได้รับเชื้อโรคได้ง่าย และห้ามคลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องใส่ใจในการป้องกันร่างกาย เช่น การล้างมือบ่อยๆ การสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น.