Home » บทความทั่วไป ความรู้น้ำท่วม » หนังสือ บ้านหลังน้ำท่วม โดย คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
หนังสือ บ้านหลังน้ำท่วม โดย คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์

หนังสือ บ้านหลังน้ำท่วม

( ร้อยพัน ปัญหาในงานก่อสร้าง เล่ม 3 )

โดย คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์  สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

ที่มา  http://winyou.asia

เนื้อหา

251 น้ำท่วมแล้ว น้ำลดแล้ว บ้าน มีปัญหา เริ่มต้น ที่ไหนดี
252 น้ำไม่ท่วมบ้าน แต่ท่วม ถนนซอย หน้าบ้าน ต้องทำ อะไรไม๊
253 รั้วคอนกรีตที่แข็งแรงของผม ต้อง ตรวจด ูอะไร หลังน้ำลดไหม
254 ช่วยด้วย ต้นไม้บ้านหนู เขากำลัง จะตาย กันหมด
255 ปาเก้บ้านดิฉัน กลายเป็นปลาลอยน้ำ น่าปาทิ้งไม๊คะ
256 ปลั๊กไฟบ้านผม น้ำท่วมไม่เป็นไร น้ำลดจะเป็นไรไม๊
257 น้ำลดแล้ว ประสาทเสียมา พอมีกะตัง ทำยังไงกับระบบไฟฟ้าดี
258 พี่ครับ ทำไมเมืองไทยถึงน้ำท่วมครับ
259 งูเงี้ยวเขี้ยวขอตะกวดแย้มังกรกิ้งกือ หนีน้ำมาอยู่เต็มบ้านเลย
260 ส้วมเหม็น ส้วมเต็ม ส้วมราดไม่ลง ส้วม ส้วม ส้วม ส้วม

261 ผมต้องตรวจสอบ อะไรเกี่ยวกับระบบประปาบ้าง
262 ผนังบ้านแช่น้ำนาน ๆ เป็นอะไรมั๊ย จะแก้ไขดูแลอย่างไร..ฮิ !
263 สีทาบ้าน ทั้งสีน้ำ สีพลาสติก สีน้ำมัน ฯลฯ ต้องทำอะไรบ้าง
264 เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า จมน้ำหมดเลย ทำไงดี
265 ประตูบ้านถูกน้ำท่วมบวมอลึ่งฉึ่ง ประตูเหล็กขึ้นสนิมหมดแล้ว ฮับ
266 บานพับ ลูกบิด รูกุญแจ เหล็กดัด หลังน้ำท่วมต้องทำอะไรบ้างดี
267 น้ำท่วม ฝ้าเพดาน แก้ไขอย่างไรได้บ้าง (ซีเรียสนะ)
268 วอลล์เปเปอร์ และ ผ้าม่านจมน้ำ เป็น คราบน่าเกลียด แก้ ยังไง 
269 พื้นหลังน้ำท่วม ทั้งพรมทั้งกระเบื้อง ทั้งหินอ่อนหินขัด สกปรกจัง
270 มีน้ำผุดขึ้นกลางบ้าน แปลว่าอะไร ไม่เห็นสนุกเลย

271 ผมอยากซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม แต่ช่างเล่นตัวจัง ไม่ยอมรับทำ
272 บ้านเป็นแอ่ง เพื่อนบ้านและถนนหน้าบ้านอยู่สูงมาก ทำไงดี
273 หมู่บ้านหนู น้ำมันท่วมทั้งหมู่เลย จะย้ายบ้านก็ไม่มีตังเฮ้อ !
274 บันไดผุเพราะน้ำท่วม พื้นก็ผุเพราะน้ำท่วม ซ่อมอย่างไร
275 พ่อผมจะสร้างบ้านใหม่ ต้องคิดถึง อะไรบ้าง เรื่องน้ำท่วม
276 อยากยกบ้านทั้งบ้านให้สูงขึ้น ทำยังไง อย่างไร เท่าไร
277 บ้านผมน้ำไม่เคยท่วม จนกระทั่ง หลวงท่าน สร้างถนน ถึงเกิดปัญหา
278 เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ หลังน้ำท่วม
279 น้ำท่วมช่องลิฟต์ น้ำท่วมห้องเครื่อง น้ำท่วม หม้อแปลงไฟฟ้า
280 พี่ พี่ สถาปนิก เขาจะช่วย คนบ้านน้ำท่วม ได้ อย่างไรบ้าง

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

251 น้ำท่วมแล้ว น้ำลดแล้ว บ้านมีปัญหา เริ่มต้นที่ไหนดี

         ความทุกข์ยากลำบากฉากแรกเพิ่งกำลังจะผ่านไปหลังน้ำลด แต่ความทุกข์ใหม่ กำลังเข้ามาแทนที่ เพราะสภาพ ของบ้าน อันถือว่าเป็นหนึ่ง ในปัจจัย 4 ของเรา มีสภาพที่น่าอึดอัด น่าอันตรายและเป็นรอยแผลที่หลายคน อยากจะเมินหน้าหนี

        หากคิดจะแก้ปัญหาบ้านหลังน้ำท่วม เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าปัจจุบัน (แม้ไม่ สามารถ จะเปรียบเทียบ เท่ากับอดีต) แนะนำในฐานะลูกหลาน พี่น้องว่า น่าจะ เริ่มต้นดังนี้

  1. อย่าซีเรียสว่า ทำไมน้ำถึงท่วม ราชการหรือรัฐบาลไปอยู่ที่ไหน เพื่อน ๆ ในถิ่นอื่น ทำไมบ้านเขา น้ำไม่ท่วม ฯลฯ เพราะนั่นไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหา "บ้านหลังน้ำท่วม"  ที่เรากำลังจะคุยกัยในโฮมเพจนี้
  2. ทำการตรวจสอบด้วยจิตอันบริสุทธิ์ว่า บ้านเราเกิดปัญหาใดเพิ่มขึ้นบ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับ ก่อนน้ำท่วม เช่นรั้วเอียง ปาเก้ล่อน แมลงสาปหายไปไหน ค่าไฟเพิ่ม ฯลฯ และ ทำบันทึกไว้เป็นข้อ ๆ ให้อ่านง่ายจดจำง่าย  (ภาษาฝรั่ง เขาเรียกว่าทำ Check List)
  3. ถามตนเองว่าสภาพการเงินเราเป็นอย่างไร มีเงินจะใช้สำหรับการซ่อมแซมเท่าไร  (รวมถึง การกู้ยืม แหล่งอื่น แต่ไม่รวม การโกง บ้านกินเมือง) จะได้วางแนวทาง การจ่ายเงินอย่างมีขีดจำกัด และมีความเป็นไปได้
  4. เปิดโฮมเพจนี้อ่านให้จบ อย่าโกรธหากบางตอนของโฮมเพจนี้เขียนแบบสบาย ๆ

252 น้ำไม่ท่วมบ้าน แต่ท่วมถนนซอยหน้าบ้าน ต้องทำอะไรมั๊ย?

น้ำไม่ท่วมตัวบ้าน หรือแม้แต่บริเวณสนามหญ้าในบ้าน แต่ท่วมที่ถนนหน้าบ้านอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ก็ไม่น่าจะวางใจนัก เพราะ ส่วนที่บ้านเรากับทางสาธารณะ จะต้องเชื่อมประสานกันมากที่สุด และเรามักจะมองข้ามไปก็คือ "ท่อระบายน้ำ" ที่ถ่ายเทน้ำจากบ้านเรา ระบายออกสู่ท่อระบายน้ำของหลวง ในยามที่น้ำท่วมทางสาธารณะ แน่นอนน้ำจะต้องท่วม ท่อระบายน้ำของหลวงท่านด้วย น้ำในบ้านเราก็เลยไม่ระบายออก แถมในทางกลับกัน น้ำในท่อระบายน้ำสาธารณะ อาจจะไหลกลับเข้าสู่บ้านเราได้ เมื่อมีการไหลกลับเช่นที่ว่า นอกจากจะพาเอาน้ำเข้ามาแล้ว ยังน่าจะพาเอาเศษดินโคลนต่าง ๆ เข้ามาด้วย เมื่อน้ำค่อย ๆ ลดลง เศษดิน โคลน ก็จะกองติดอยู่ในท่อระบายน้ำบ้านเรา ท่อระบายน้ำบ้านเราที่เล็กอยู่แล้ว ก็จะเกิดอาการอุดตัน หรือมีพื้นที่ว่างเหลือน้อยกว่าปกติ แนวทางในการแก้ไขและข้อควรจะระวัง น่าจะมีดังต่อไปนี้

  1. หากเป็นท่อระบายน้ำระบบมีฝาเปิดตลอดแนว ก็เปิดฝาแล้วตักไอ้เจ้าดินโคลนเศษขยะนั้นออก 
  2. หากเป็นท่อระบบไม่มีฝาเปิดตลอด ก็เอาไม้ยาว ๆ ควานดู (แบบที่เขาขุดลอกท่อระบายน้ำของ กทม. นั่นแหละครับ) หากทำไม่ได้ ทำไม่เป็น ทำไม่ไหว ขี้เกียจทำ ก็ไปจ้างคนอื่นเขาทำ แต่ขอร้องเถอะครับ อย่าเอาตัวมุดลงไป ในท่อแล้วทำเอง เพราะอาจไม่ได้กลับออกมา
  3. อย่าพยายามใช้น้ำฉีด เพราะจะเปลืองน้ำมากและยังคงทำความสะอาดท่อลำบาก แถมยังทำบาปกับคนอื่นเขา เพราะ เจ้าเศษโคลน ทั้งหลายจะระบายลงสู่ ท่อสาธารณะ ทำให้ท่อของหลวงท่าน อุดตันตื้นเขิน …อันเป็น สาเหตุ หนึ่ง ที่ทำให้น้ำท่วมบ้าน ท่วมเมือง เนื่องจากระบายน้ำไม่ได้ อย่างที่น่าจะเป็น
  4. เมื่อทำการกวาดล้างเสร็จแล้ว ลองตรวจสอบอีกครั้งดูว่าระดับน้ำในท่อระบายน้ำเรานั้นไหลไปทางไหน ขอให้แน่ใจว่า จะไหลออกจากบ้านเรา สู่ท่อสาธารณะ หากยังไหลกลับทางกัน กรุณากลับไปอ่าน ข้อที่หนึ่งใหม่ 
  5. หากหน้าบ้านท่านไม่มีท่อระบายน้ำสาธารณะ ก็ให้ตรวจสอบว่าน้ำไหลไปทางไหน ระบายออกทางไหน และให้ถือว่า จุดที่น้ำระบายออก จากบ้านเรา เป็นทางสาธารณะไปก่อน (หวังว่าบ้านท่านคงจะ ไม่ระบายน้ำ สะเปะสะปะ ผิดกฎหมายนะครับ) 

253 รั้วคอนกรีตที่แข็งแรงของผม ต้องตรวจดูอะไรหลังน้ำลดไหม ?

น้ำคือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของธรรมชาติ และธรรมชาติเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เกินกว่าที่มนุษย์จะไปท้าทายแข็งขัน รั้วคอนกรีตของท่าน คงจะไม่สามารถฝืนกฎนี้ได้

ปัญหาที่อาจจะเกิดกับรั้วของท่านก็เป็นเรื่องจากยามน้ำท่วม ดินที่ฐานรั้วท่านอาจจะอ่อนตัวลง ความสามารถในการ รับน้ำหนัก อาจจะน้อยลง หรือระดับที่ดินในบ้านกับนอกบ้านท่านมีระดับแตกต่างกัน ยามเมื่อน้ำที่ท่วมลดลง อาจจะเกิดแรงดูด ทำให้รั้วของท่าน เอียงไปก็ได้ หรือในขณะที่น้ำท่วมรั้วของท่าน อาจต้องทำหน้าที่เป็น "เขื่อน" ที่ต้องรับน้ำหนักน้ำเป็นอย่างมาก ความสามารถในการรับน้ำหนักอาจ "คลาก" ความแข็งแรงลดลงไปได้ ดังนั้นเพื่อความมั่นใจกรุณาตรวจสอบ และหาแนวทางแก้ไขดังนี้ 

  1. ใช้สายตาของท่านเล็งดูว่ารั้วของท่านยังตั้งฉากอยู่ดีหรือไม่ หากมีการเอียงเล็กน้อยก็เอาไม้ค้ำยันด้านที่เอียงออก เอาไว้ก่อน มีสตางค์เมื่อไรก็รีบซ่อมทันที 
  2. หากตรวจสอบแล้วปรากฎว่ารั้วของท่าน เอียงมากจนแนวออกหรือจะออกนอกแนวศูนย์ถ่วง (C.G.) ต้องรีบซ่อมแซมทันที (โดยช่างก่อสร้าง ที่พอจะมีความรอบรู้) หากยังไม่มีงบประมาณ ก็ต้องค้ำยันไว้ อย่างแน่นหนามาก ๆ เพราะน้ำหนักรั้วที่แข็งแรงของท่านนั้นหนักมาก (ไม่เชื่อลองไปนอนให้รั้วพังทับดูก็ได้ไม่ว่ากัน)
  3. หากรั้วของท่านมีคานคอดิน (คานตัวล่างสุดที่อยู่ใกล้ระดับดิน) รับน้ำหนักรั้วอยู่ พอน้ำลดลง น้ำอาจพาดิน ใต้คานคอดินของท่าน ออกไปด้วย ก็จะเกิดรูโพรงใต้คานรั้วของท่าน อันอาจเป็นเหตุให้สัตว์ต่าง ๆ เดิน - วิ่ง - มุด - เลื้อย เข้าไปในบ้าน ของท่านได้ หรือไม่ก็ทำให้ดินของท่านไหลออกจากบ้านสู่ทางสาธารณะไปเรื่อย ๆ ภายหลัง (อันทำให้ดินของท่าน หมดสนาม และถนนสาธารณะต้องสกปรก) ก็ขอให้เติมดินอัดกลับเข้าไป ให้คงเดิม
  4. นอกจากจะตรวจดูที่รั้วบ้านแล้ว ท่านน่าจะต้องตรวจดูที่ประตูรั้วท่านด้วย เพราะประตูส่วนใหญ่ จะทำด้วยเหล็ก หรือไม้ (พวกอัลลอยด์ไม่ค่อยเป็นอะไร ยกเว้นบริเวณบานพับหรือกลอนที่อาจจะทำด้วยเหล็ก) อาจมีอาการผุกร่อนได้ ทำให้บานประตูไม่สามารถปิดได้เหมือนเดิม หรืออาจจะหลุดออกมาทั้งบาน !!! ทำการผูกรัดให้แข็งแรงเสีย มีเงินเมื่อไร อย่าลืมควักออกมาซ่อมแซมก็แล้วกัน

 

254 ช่วยด้วย ต้นไม้บ้านหนู เขากำลังจะตายกันหมด

น้ำท่วมคราวนี้คร่าชีวิตต้นไม้ไปมากมาย ทั้งพืชทางเศรษฐกิจและพืชที่เราปลูกกันไว้ในบ้าน หากบ้านใดน้ำท่วมเป็นเวลานาน ต้นไม้ต้นหญ้าขนาดเล็ก จะต้องตายหมดแน่นอน แนวทางการแก้ไขก็คือ ต้องเริ่มต้นปลูกกันใหม่ (ต้นไม้เขาตายไปแล้ว เรามิใช่เทวดาที่จะเรียก ให้เขาฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้) แต่ต้นไม้บางต้นที่ยังไม่ถึงที่แต่ก็กำลังจะถึงที่ตาย มีแนวทางที่ เรา จะช่วยเหลือเยียวยาเขาได้ ลองทำดังนี้ดูนะครับคุณหนู


 

  1. อย่าให้ปุ๋ยเด็ดขาด (ทั้งปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ปุ๋ยธรรมชาติ หรือปุ๋ยนางงามจักรวาล) เพราะน้ำท่วมทำให้รากต้นไม้ อ่อนแอ เขาต้องการ เวลาพักฟื้นตัว ไม่ใช่ต้องการปุ๋ย (อย่างคนอาการโคม่า ย่อมไม่ต้องการรับประทาน สเต๊ก เนื้อสันฉันนั้น) 
  2. ขุดหลุมเล็กขนาดลึกสัก 50 ซม. ถึง 1 เมตร ไว้ข้าง ๆ ต้นไม้นั้น เพื่อให้น้ำที่ขังอยู่บริเวณรากไม้ไหลลงสู่หลุมที่เราขุด เป็นการช่วยอาการรากสำลักน้ำได้ แล้วก็คอยเอาเครื่องดูดน้ำเล็ก ๆ (ภาษาชาวบ้านเรียกเจ้าเครื่องนี้ว่า ไดรโว่ ราคาประมาณ สองถึงสามพันบาท) คอยสูบน้ำออก แต่หากไม่มีกะตัง จะซื้อเครื่องสูบน้ำนี้ ก็ต้องออกแรงขุดหลุม กว้างหน่อย (อย่ากว้างมาก จนต้นไม้เขาล้ม) แล้วใช้ขันหรือถังค่อย ๆ เอื้อมมือตักน้ำออก
  3. หากเห็นว่า รากต้นไม้ไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะยึดลำต้นเอาไว้ กรุณาอย่าอัดดินลงไปให้แน่นเป็นอันขาด ต้นไม้เขาจะรีบ ๆ ตาย ทันที ให้ใช้วิธีดามหรือค้ำยันลำต้นเอาไว้แทน รอจนรากเขาแข็งแรงเหมือนเดิม แล้วจึงเอาไม้ดามไม้ค้ำยันออก 
  4. ขอให้หนูโชคดีในการรักษาต้นไม้เอาไว้ หากโชคร้ายเขาต้องตายจากไป กรุณาปลูกขึ้นมาใหม่ เพราะต้นไม้หนึ่งต้น ขนาดต้นมะม่วงบ้านเรา จะถ่ายเทความร้อนได้เท่ากับเครื่องปรับอากาศ 1 ตัน แถมยังมีร่มเงาให้เราอีก ผลิตอากาศบริสุทธิ์ ให้เราใช้ กรองเสียงและกรองฝุ่นออกจากตัวบ้านเรา เราจะได้ใช้ไฟฟ้าให้น้อยลง ประเทศเราจะได้ไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าสร้างเขื่อน ขออย่าเชื่อหมอดูฮวงจุ้ยที่พล่ามหลอก เอ้ย ! ขอโทษ… พล่ามบอกว่าให้ตัดต้นไม้ข้างตัวบ้านออกให้หมดนะคะ

255 ปาเก้บ้านดิฉัน กลายเป็นปลาลอยน้ำ น่าปาทิ้งมั๊ยคะ ?

ก่อนอื่นต้องขอภาวนาว่าพื้นปาเก้ที่บ้านคุณนั้น เป็นปาเก้พื้นชั้นล่าง ไม่ใช่ปาเก้พื้นชั้นบน แต่ที่ว่าน่าจะปาทิ้งหรือไม่นั้น ผมขออนุญาต เล่าและอธิบายดังนี้


 

  1. ปาเก้เป็นไม้ซึ่งอยู่ได้ด้วยกาว ดังนั้น พื้นปาเก้จึงเป็น พื้นที่อ่อนแอ กับอาการ น้ำท่วม อย่างยิ่ง เพราะทั้งไม้ ก็จะบวมขึ้นมา กาวก็จะหลุดล่อน ดังนั้นเมื่อ น้ำท่วมพื้นปาเก้ก็ต้องมีปัญหาแน่นอน อย่าไปโทษช่างทำปาเก้ หรือ อย่าไป คิดอะไรมาก 
  2. หากน้ำท่วมสัก 5-7 วัน นอกจากปาเก้จะหลุดล่อนลอยน้ำ ปูดโปนขึ้นมาแล้ว ยังจะมี อาการ "บูดเน่า" ให้เกิดกลิ่นเหม็น และอาจ เป็นอันตราย น้อย ๆ หากต้อง สูดดมอยู่ตลอด ทั้งวันทั้งคืน
  3. หากปาเก้เปียกน้ำสักเล็กน้อย ไม่ถึงกับหลุดล่อนปูดโปนไม่ต้องทำอะไรมาก เช็ดทำความสะอาด แล้วปล่อยทิ้งไว้ เปิดหน้าต่าง ประตู ให้อากาศถ่ายเท ความชื้นออกไป ไม่กี่วันปาเก้ก็อาจเข้ารูปเดิมปกติได้ แต่มีข้อที่น่าคิดก็คือ อย่าเอาน้ำมัน หรือแลคเกอร์ หรือแว็กซ์ ไปทาทับตอนที่ปาเก้ยังชื้นอยู่ เพราะ สารเหล่านั้น จะไปเคลือบ ผิวไม้ ทำให้ความชื้น ในเนื้อไม้ (และเนื้อพื้นคอนกรีต ใต้ปาเก้) ไม่ระเหยออกมา 
  4. หากปาเก้มีอาการหนัก บิดงอ ปูดโปน เบี้ยวบูด ผุกร่อน เหม็นเน่า…กรุณาอย่าเสียดาย กรุณาเลาะออกมา หากเลาะออกมาแล้ว ยังอยู่ในสภาพดี ก็ผึ่งลมเอาไว้ให้แห้ง เผื่ออาจมีประโยชน์ในวันหลัง
  5. หากเลาะพื้นปาเก้ออกมีข้อคิดว่า หากจะปูอะไรทับแทนก็ต้องระวังเรื่องน้ำหนักของวัสดุที่จะปูแทนนั้น ว่าหนักมากไหม หากหนักมาก ก็ต้องดูระบบโครงสร้างบ้านเราด้วยว่ามีความแข็งแรงไหม (ถามช่างผู้รู้ ให้ช่วย ดูก็ได้) เพราะปาเก้นั้น เป็นไม้ น้ำหนักเบา พื้นที่หนึ่งตารางเมตร อาจจะหนักเพียง 5 กิโลกรัม แต่พื้นหินอ่อน หรือแกรนิต น้ำหนักรวมปูนทราย ที่ใช้ปู หนึ่งตารางเมตรอาจหนักตั้ง 120 กิโลกรัม
  6. หากจะปูปาเก้เช่นเดิม (เพราะชอบความเป็นไม้ที่ให้ความนุ่มนวล) หรือปูวัสดุอื่นที่ใช้ "กาว" เป็นตัว ประสาน กรุณาอย่า ปูทับลงทันที ต้องรอ ให้พื้นคอนกรีตแห้งก่อน (อาจใช้เวลาเป็นเดือน) แล้วจึงปูลงไปได้ ไม่เช่นนั้น รับรองว่าปูเท่าไรลงไป ก็ล่อนออกมาเท่านั้น 

 

256 ปลั๊กไฟบ้านผม น้ำท่วมไม่เป็นไร น้ำลดจะเป็นไรมั๊ย ?

แม้คำถามของคุณออกจะกวนกวนอยู่บ้าง แต่เราก็พยายามเข้าใจและเห็นใจ ว่าในขณะที่ น้ำท่วม นั้นท่านปิดวงจรไฟฟ้าทั้งบ้าน (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ปิดคัทเอ๊าท์) น้ำท่วมก็คงไม่เป็นไรอยู่แล้ว เพราะไม่มีกระแส ไฟฟ้าเดิน แต่พอ น้ำลด อยากจะเปิดไฟใช้ คงหวั่นเกรงเหมือนกัน ว่าจะเป็นอย่างไร เอาละ ครับ ผมขอสรุป แนวทาง ดังนี้ดีกว่า 

  1. ลองเปิดคัทเอ๊าท์ให้มีกระแสไฟฟ้าเข้ามา (อย่าลืมต้องมีฟิวส์ที่คัทเอ๊าท์เสมอ) หากปลั๊กหรือจุดใดจุดหนึ่งยังชื้น หรือเปียกอยู่ คัทเอ๊าท์จะตัดไฟและฟิวส์จะขาด ลองเปลี่ยนฟิวส์แล้วทิ้งไว้สัก 1 วัน ให้ความชื้นระเหย ออกไปบ้าง แล้วดำเนินการใหม่ หากคัทเอ๊าท์ยังตัดไฟเหมือนเดิม กรุณาตาม ช่างไฟฟ้า ผู้รู้เรื่องมาแก้ไข (เสียเงินบ้างก็เป็นเรื่องจำเป็น) ดีกว่าเอาชีวิตเสี่ยงต่อไป
  2. หากผ่านข้อที่ 1 ลองทดสอบเปิดไฟฟ้าทีละจุด และทดสอบกระแสไฟฟ้า ในปลั๊ก แต่ละอันว่ามี ไฟฟ้ามาปกติ หรือไม่ (อาจหาซื้อ อุปกรณ์ตรวจ กระแสไฟฟ้า ขนาดเล็ก จาก ห้างไฟฟ้าทั่วไป รูปร่างหน้าตาคล้ายไขควง มาเสียบทดสอบดูก็จะสะดวกดี) หาก ทุกจุดทำงาน ปกติก็ถือว่า สบายใจได้ไปอีกระดับหนึ่ง หากมีปัญหา บางจุด ก็อาจรอสักนิดให้ความชื้นระเหยออกเช่นข้อแรก (แต่หากพอมีเงิน กรุณาอย่าเสี่ยงเลยครับ)
  3. ดับไฟทุกจุดในบ้าน ปลดเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทั้งหมด แต่ยังคงเปิดคัทเอ๊าท์เอาไว้ แล้ววิ่งไปดู มิเตอร์ไฟฟ้า หน้าบ้านว่าเคลื่อนไหวหรือไม่ (อาจต้องรอสักพักโดยการจดตัวเลขไว้) หากไม่เคลื่อนไหวแสดงว่า ไฟฟ้าในบ้านเราไม่น่าจะรั่ว แต่หากมิเตอร์หมุนแสดงว่า ท่านยังปิดการใช้ไฟฟ้าในบ้านท่านไม่หมด หรือไฟฟ้า ตามสาย ตามท่อ ตามจุด บางจุดในบ้านท่าน อาจจะรั่วได้ (ตอนที่ตรวจดูมิเตอร์ไฟฟ้า กรุณาอย่าเอาอะไร ไปเขี่ยอะไรต่ออะไรนะครับ) รีบตามช่างไฟมาดูแล 
  4. เรื่องไฟฟ้านี้เป็น เรื่องของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของเด็กเป็นเรื่องของคนขี้ขลาด ไม่ใช่เรื่องของผู้กล้าหาญ 

ดังนั้นกรุณาอย่าประมาท น้ำท่วมก็เสียหายมากพอแล้ว อย่าต้องมาจัดงานอัปมงคลตามหลังกันอีกเลย …ซีเรียสนะ !


 

257 น้ำลดแล้ว ประสาทเสียมาก พอมีกะตัง ทำยังไงกับระบบไฟฟ้าดี

ถือว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่ยังนับว่าโชคดีกว่าประชาชนอีกมาก ในประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรา เพราะ ระบบไฟฟ้า เป็นสิ่งจำเป็นกับการดำรงชีพ แต่มีอันตรายสูง และเข้าใจยาก ตรวจสอบยาก เพราะเรา ไม่สามารถเห็น "ตัวกระแสไฟฟ้า" ได้เลย หากคุณพอจะมีงบประมาณ ในการปรับเปลี่ยน ระบบไฟฟ้า ในบ้านหลังน้ำท่วม เราขอแนะนำดังต่อไปนี้

  1. หากมีงบประมาณน้อยและบ้านขนาดไม่ใหญ่ ตัดปลั๊กไฟที่อยู่ระดับต่ำ ๆ ในบ้านออกให้หมด (อาจจะ ตัดทิ้งเลย หรือจะ เลื่อนตำแหน่งปลั๊ก นั้นขึ้นไปอยู่สูงกว่าพื้นห้องสักระดับ 1.10 เมตร ก็ได้)
  2. หากพอจะมีงบประมาณบ้าง ให้แยกวงจรไฟฟ้าออกเป็น 2 วงจร คือวงจรที่อยู่ด้านล่าง (ที่ซึ่งน้ำ อาจจะ ท่วมได้) และวงจรที่อยู่สูง ๆ (ที่น้ำไม่อาจท่วมถึง)
  3. หากมีงบประมาณหนักขึ้นไปอีก แยกวงจรไฟฟ้าออกเป็น 4 วงจร วงจรแรกสำหรับปลั๊กด้านล่าง (ยามน้ำท่วม) วงจรที่สอง เป็นวงจรสำหรับจุดที่ใช้ไฟฟ้าทั่ว ๆ ไป (ที่น้ำไม่ท่วม) จุดที่สาม สำหรับเครื่อง ปรับอากาศ (หากมี) เพื่อกันอาการไฟกระตุกเมื่อเครื่องปรับอากาศทำงาน จุดสุดท้ายเอาไว้ในครัว เพื่อยามออกจากบ้านนานนาน อยากปิดคัทเอ๊าท์ จะได้ไม่ต้องปิดหมด เพราะปิดหมดเจ้าตู้เย็นในครัว ก็จะหยุดทำงาน อาหารในครัวก็เน่าเสียหมด หรือยามเราไม่อยู่บ้าน อาจปล่อยทั้งกิจกรรม การใช้ไฟฟ้า ไว้เพียงในครัวเท่านั้น
  4. หากมีงบประมาณมากขึ้นไปอีก แยกวงจรให้มากเข้าไปอีกก็ได้ อาจแยกเป็นวงจรชั้นบน วงจรชั้นล่าง วงจรนอกบ้าน ฯลฯ (โดยยังยึดถือ วงจรตามข้อ 3 อยู่) แต่หากจะแยกวงจรมาก ๆ ดังนี้ และมีงบประมาณมาก ตามที่บอก น่าจะว่าจ้างวิศวกรไฟฟ้า เข้ามาคำนวณ จะประหยัด และปลอดภัยกว่า (สถาปนิกโดด ๆ อย่างผม ไม่มีความรู้ ความสามารถเพียงพอขอรับ)

258 พี่ครับ ทำไมเมืองไทยถึงน้ำท่วมครับ

คุณพิศิษฐ์ โรจนวณิช ผู้ช่วยอุปนายกฝ่ายวิชาการ ของ สมาคมสถาปนิกสยาม ฯ เคยเขียน บทความเรื่องนี้ เอาไว้ชัดเจนมาก ท่านกล่าวไว้ในหัวข้อ "ภูมิหลังน้ำท่วม กับประเทศไทย" ผมจึงขอลอกบทความ ที่ท่านเขียน มาให้อ่านกันดังต่อไปนี้

การที่เราจะแก้ไข ในวิกฤติการณ์ในปัจจุบันใด ๆ ที่เป็นการเผชิญหน้ากัน ระหว่างมนุษย์ กับสภาพแวดล้อม ทางธรรมชาติ รวมทั้งการเกิดน้ำท่วม จำเป็น อย่างยิ่ง ที่เราจะต้องสร้างความเข้าใจ ต่อวิกฤติการณ์นั้น จากพื้นฐาน ทาง ภูมิประเทศ และภูมิอากาศเสียก่อน เขื่อน ทำนบ ฝาย ต่าง ๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วม เป็นสิ่งที่มนุษย์ สร้างขึ้น บนพื้นฐานดังกล่าว ซึ่งจะมีผล ในการ ควบคุม ธรรมชาติ ของน้ำ อย่างไรก็ดี สภาพของภูมิหลัง ยังเป็นสิ่งที่คอยกำกับ ภาพรวม ของปรากฎการณ์ ทางธรรมชาติ อยู่ตลอดเวลา หากพลังธรรมชาติ ไม่ได้เป็นไป ในแนวทาง ที่มนุษย์นำร่องเอาไว้ ความเสียหายต่อถิ่นฐาน บ้านช่องของมนุษย์ ย่อมจะเกิดขึ้น อย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้

หากพิจารณาดูพื้นฐานของภูมิประเทศและภูมิอากาศของประเทศไทยอย่างพิเคราะห์ แล้วจะพบว่า น้ำท่วม กับประเทศไทย เป็นของคู่กัน จากข้อมูลน้ำท่วมในปี 2538 นี้ 65 จังหวัดจาก75 จังหวัด มีปัญหาน้ำท่วม กล่าวโดยสรุป คือเกือบทั้งประเทศ ทั้งนี้เกิดจาก ประเด็นพื้นฐานคือ ลักษณะการตั้ง ถิ่นฐานบ้านช่อง บนพื้นราบลุ่ม ที่เหมาะสม ต่อการเกษตร ในขณะที่ลักษณะภูมิอากาศ ของประเทศไทย มีฝนตกชุก ทั่วประเทศ

ยกตัวอย่าง ภาคกลาง ซึ่งเป็นแบบอย่างของการตั้งถิ่นฐานในสมัยปัจจุบัน ที่ทุกภาค ดำเนินการ ตามภูมิศาสตร์ ของภาคกลาง มีลักษณะที่เด่นชัด แตกต่างกับภาคอื่น ในประการที่มี เครือข่ายของแม่น้ำ ลำคลอง อยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในบริเวณ กรุงเทพมหานคร ภูมิประเทศในสมัยก่อน เป็นที่ลุ่มต่ำ ที่เรียกในพงศาวดารว่า เป็น "ทะเลตม" จนพื้นที่แทบจะใช้ทำอะไรไม่ได้

นอกจากแม่น้ำลำคลองอันมีอยู่มากมาย เรายังเห็นว่า มีสระทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ที่คนขุดขึ้น กระจายอยู่ ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นสิ่งสืบเนื่องจาก การขุดคู และยกร่อง เพื่อเอาชนะธรรมชาติ จนสามารถใช้ที่ดิน ซึ่งมิเช่นนั้นแล้วย่อมจะใช้

ประโยชน์อะไรไม่ได้เพื่อการทำสวนผลไม้และสวนผัก ในภาคกลาง โดยเฉพา ะในท้องที่จังหวัดธนบุรี และนนทบุรี โดยยอมเสียเนื้อที่ ประมาณครึ่งหนึ่ง ไปในการขุดท้องร่อง เพื่อเอาดินขึ้นมายกร่องให้สูง พอแก่การเป็นแปลงเพาะปลูกได้ ทั้งยังใช้น้ำในคูนั้นเองรดพืชผักได้อย่างเหลือเฟือ

ระบบการขุดคูและยกร่องในภาคเกษตรนี้ ได้ถูกนำมาปรับใช้ในการสร้างบ้านแปลงเมืองในศตวรรษที่ 19 เมื่อที่ดิน ในกรุงเทพ ยังหาซื้อได้ในราคาต่ำ โดยการขุดสระขึ้น ในบริเวณที่จะปลูกบ้าน และใช้ดินที่ขุดขึ้นมานั้น ถมที่ดินส่วนที่เหลือ ให้สูงเกินกว่าระดับน้ำท่วมประจำปี หรือประจำคาบเวลา ในฤดูน้ำหลาก สระอันเกิดจากความจำเป็นนี้ ได้กลายเป็นสระประดับบริเวณ ทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ทั้งภายนอกและภายในกรุงเทพฯ รวมถึงเขตปริมณฑล ได้แก่บริเวณพระที่นั่ง และพระตำหนักต่าง ๆ ในพระราชวังดุสิต เช่น พระที่นั่งวิมานเมฆ พระตำหนักจิตรลดา สวนสุนันทา ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีพระราชวังบางปะอิน สถาบันแห่งเทคโนโลยีแห่งเอเซีย วชิราวุธวิทยาลับ สวนลุมพินี สวนดุสิต โรงงานยาสูบ (ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์) และวัดปทุมวนาราม กับวังเพชรบูรณ์ ล้วนแล้วแต่ มีสระอันสวยงาม แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า บริเวณสระที่เอ่ยนามบางราย มีอันเป็นไป เพราะถูกถม เพื่อโครงการก่อสร้าง นับได้ว่าเป็น การประสบความล้มเหลว ในการที่จะปรับวางผังเมืองให้สอดคล้อง และเหมาะสม แก่สภาพแวดล้อม อันเต็มไปด้วยแม่น้ำ

ย้อนหลังกลับไปถึงต้นรัชการที่ 4 ปัลเลกัวซ์ได้บันทึกไว้ในทำนองเดียวกันว่า "…….ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า ในโลกนี้ ยังจะมีประเทศใดบ้าง ที่มี ความอุดมสมบูรณ์ ยิ่งไปกว่าประเทศสยามหรือหาไม่……."

ความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวนี้ มีมูลเหตุมาจากที่ตั้งอันเป็นคุณของสยามประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณ รับอิทธิพล จากภูมิอากาศ ของ ทะเลจีนใต้ โดยจะมีการก่อตัว ของหย่อมความกดอากาศต่ำ (Low pressure cell) ขึ้น แล้วเคลื่อนตัว มาทางตะวันตก พัฒนาสู่ ความกดอากาศ ที่แรงขึ้น เป็นดีเปรสชั่น (Depression) ต่อจากนั้น จึงพัฒนาขึ้น เป็นพายุโซนร้อน (Tropical Storm) ในขณะที่ เคลื่อนตัวขึ้น ทำความเสียหายให้แก่ ประเทศเวียตนาม แล้วกลับอ่อนกำลังลง เป็นดีเปรสชั่น นำฝนเข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะใน ภาคกลาง ทะยอย กันเข้ามา เป็นระยะ ๆ จึงทำให้สามารถ เก็บกักน้ำ ไว้ เป็นประโยชน์ เกื้อกูลต่อการเกษตร โดยเฉพาะ คือ การทำนาข้าว และแผ่ขยาย กลายเป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ ของประเทศสืบมาจนบัดนี้

สาเหตุของความเสี่ยงและความเสียหายจากน้ำท่วม ของมวลอาคารบ้านเรือน หากสรุปแก่นจริงแล้ว น่าสรุปได้ไม่ยากว่า

  • เกิดจากการก่อสร้างในบริเวณที่เกิดจากน้ำท่วม 
  • น้ำท่วมต้องเกิด เป็นเหตุการณ์ที่ห้ามไม่ได้ แต่ความเสียหายสามารถลดลงได้ โดยการลด ความเสี่ยง ของพื้นที่ สร้างทำนบ กำแพง ทำการปิดล้อม การถมพื้นที่ การยกระดับพื้น และหลีกเลี่ยงการก่อสร้าง ในบริเวณความเสี่ยงสูง 

การวางผังเพื่อลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม หมายถึงการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กว้าง มักจะเกิดขึ้น มาจาก ความจำเป็น ทางชลประทาน และ หรือ เพื่อการตั้งถิ่นฐาน ของมนุษย์ จะสามารถกระทำได้ ในพื้นที่ กว้างขวางขึ้น เพราะประชากร เพิ่มมากขึ้น ผลก็คือ ก่อให้เกิด ความผันแปร ของ ธรรมชาติ น้ำท่วม ก็อาจ จะเกิดขึ้นได้ โดยมีความถี่ลดลง แต่ความรุนแรงสูงขึ้น เพราะพลังน้ำ ที่สามารถเอาชนะ ระบบชลประทาน ของมนุษย์ ต้องมีมหาศาล จึงจะทำเช่นนั้นได้

การพัฒนาใน เขตความเสี่ยงสูงมีค่าใช้จ่าย การพัฒนาในระยะหลัง ๆ จะเป็นการใช้พื้นที่ที่ถูกต้อง เพราะ การพัฒนาที่ดิน และ ก่อสร้าง อาคาร ที่ สอดคล้อง กับความเสี่ยง ของน้ำท่วม เป็นสิ่งที่ดี นำไปสู่การพัฒนา ที่ยั่งยืน เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น


259 งูเงี้ยวเขี้ยวขอตะกวดแย้มังกรกิ้งกือ หนีน้ำมาอยู่เต็มบ้านเลย

หากแม้ว่าบ้านของท่านไม่ใช่สวนสัตว์ หรือห้องทดลองชีวเคมี ขอให้เรียกบริษัทกำจัดแมลง หรือกรมประมง มาช่วยเถอะครับ บอกอย่างไม่อายตรง ๆ ว่า งานนี้…สถาปนิกไม่ทราบจริง ๆ ครับ


 

260 ส้วมเหม็น ส้วมเต็ม ส้วมราดไม่ลง ส้วม ส้วม ส้วม ส้วม

หลังน้ำท่วม นอกจากปัญหาใกล้ตัวเรื่องระบบไฟฟ้า และวัสดุปูพื้นที่ถูกน้ำท่วมจะเป็นปัญหาที่พบเห็นเสมอ แล้ว เรื่องส้วม ๆ ดูจะเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าและหนักหนากว่ามาก เพราะเราไม่มีที่ จะถ่ายทุกข์ ทุกข์เลยบรรจุ อยู่เต็มตัวเรา พอเราถ่ายทุกข์ออกมาหนอยทุกข์นั้นดันไม่ย่อยสลาย บ้านเรา ก็เลยมีทุกข์ ลอยตุ๊ปป่องตุ๊ปป่อง เต็มไปหมด เฮ้อ

เมื่อน้ำลดแล้ว ส้วมของบางท่านอาจจะยังคงมีปัญหาอยู่ บ้างอาจจะเป็นปัญหาดั้งเดิม บ้างก็เป็นปัญหา เกิดใหม่ บ้างก็จะ สอดประสานกลมเกลียวกัน ทั้งปัญหาเก่าและปัญหาใหม่ ผมใคร่ ขอสรุปรวมความ ปัญหาแห่งส้วม ออกเป็นข้อย่อย ๆ ได้ 8 ประการ (ทั้งปัญหาเก่าและปัญหาใหม่) ดังต่อไปนี้

  1. หากส้วมของท่านเป็นระบบบ่อซึม (หมายถึงเมื่อของเสียย่อยสลายแล้ว จะซึมผ่านสู่พื้นดิน ระบบนี้เป็นระบบ ที่นิยมกันทั่วประเทศ เป็นเวลานาน) แล้ว บ่อซึม ของท่าน วางอยู่ ใน บริเวณที่พื้นดินชุ่มฉ่ำ (อาจจะเพราะน้ำท่วมก็ได้) สิ่งที่เกิด ก็คือบ่อซึม ไม่ยอมซึมน้ำออก (แถมยามน้ำท่วม นอกจากน้ำ จะไม่ไหลออก จากบ่อซึม น้ำที่ท่วม จะไหลย้อนเข้ามาในบ่อ และระบบย่อยสลายอีกด้วย) ปัญหาที่ตามมา ก็คืออาการ "ตุ๊บป่อง" ราดส้วมไม่ลง ใช้ส้วมไม่ได้ ส้วมจะเต็มบ่อยนั่นเอง แก้ไขได้ 2 ประการคือ หากพื้นดินชุ่มฉ่ำ เพราะน้ำท่วม ก็ขอให้รอสักนิด ให้พื้นดินแห้งสักหน่อย แต่หากพื้นดินชุ่มฉ่ำชื้น ตามธรรมชาติของพื้นที่ ก็กรุณาเปลี่ยนระบบ มาใช้เป็นระบบเครื่องกล สำหรับ ย่อยสลาย (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ถังส้วมสำเร็จ) ซึ่งจะทำหน้าที่ ย่อยสลายปฏิกูล ต่าง ๆจนเป็น น้ำสะอาด แล้วก็ปล่อยลง ท่อระบายน้ำสาธารณะ ได้โดย ไม่ผิด กฎหมาย
  2. หากโถส้วมอยู่ระดับต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับ ระดับบ่อเกรอะ หรือถังส้วมสำเร็จรูป ทำให้ระนาบ ของท่อส้วม ไหลไม่สะดวก หรือบางครั้ง อาจจะมีอาการ ไหลย้อนกลับ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยามน้ำท่วม ทำให้ระดับน้ำ ณ ถังส้วม อาจสูงกว่า ระดับโถส้วม) ทำให้เกิดอาการ ราดไม่ลง หรือตอนกดน้ำ ราดน้ำที่โถส้วม ทำให้ในโถส้วม มีแรงดัน สูงมากขึ้น หากน้ำไม่สามารถ ไหลลงไปได้ ก็จะเกิดอาการ แรงดันย้อนกลับ ทุกข์ทั้งหลายของเราจ ะกระฉอกขึ้นเปรอะเปื้อนได้ 
  3. อาจเกิดเพราะท่อส้วมแตกและอาจไปฝัง (หรือเกือบจะฝังในพื้นดิน) ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น และราดส้วมไม่ลง หรือบางครั้ง เกิดอาการ ที่ตัดสินใจยาก เพราะบางครั้งราดลง บางครั้งราดไม่ลง เพราะไปเกี่ยวข้อง กับสภาพแวดล้อม อย่างมาก หากกรณีนี้เกิดขึ้นในขณะน้ำท่วม ยิ่งตัดสินใจยาก เพราะวันไหน ทุกข์ของเรา มีน้ำหนักมาก วันนั้นก็อาจจะราดไล่ลงไปได้ วันไหนทุกข์ของเรา มีมวลน้อย มีน้ำหนักน้อย ทั้งเสือกไสไล่ ราดเท่าไรก็ดื้อ ไม่ยอมลงสักที 
  4. บางท่านอาจจะลืมใส่ท่ออากาศให้ส้วมหายใจ เวลาราดน้ำจะราดไม่ลง (เหมือนกับพยายาม กรอกน้ำใส่ขวด โดยไม่มีช่องอากาศ เหลือเลยที่ปากขวด จะกรอกน้ำไม่ลง) บางบ้าน อาจจะมีท่ออากาศ แต่ท่ออากาศอาจอุดตันได้ ไม่ว่าจะเกิดจากความสกปรก หรือเกิดจาก เศษผง เล็กลอยมาอุด ตอนที่น้ำท่วมก็ได้
  5. ขนาดของบ่อเกรอะบ่อซึม หรือถังบำบัดสำเร็จขนาดเล็กเกินไป หลายครั้งพบปัญหา เพราะใช้อาคาร ผิดประเภท เช่นออกแบบไว้ ให้มีคนในบ้าน 5 คน แต่พอใช้จริง ใช้เข้าไปตั้ง 8-9 คน ปริมาณทุกข์ต่าง ๆ จึงมากกว่า ที่เคยคำนวณเอาไว้แต่แรก ถังส้วมจะเต็มบ่อยเต็มเร็ว เพราะมีช่องว่างน้อย ถ้าเป็นระบบบ่อซึม ก็มีพื้นผิวการซึมน้ำออกน้อย น้ำจึงซึมออกไม่ทัน
  6. ท่านอาจใส่สิ่งของที่ไม่น่าจะใส่ลงในโถส้วม หรือสิ่งของบางอย่างอาจจะลอยมากับน้ำท่วม เช่นแผ่นผ้าอนามัย ถุงยางอนามัย ถุงมืออนามัย หรือ แปรงขัดส้วมอนามัย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ จะไม่ย่อยสลาย และเป็นสาเหตุ แห่งการอุดตัน 
  7. ถังบำบัดสำเร็จบางรุ่นบางยี่ห้อ ต้องใช้เครื่องมือกลเข้าปั่นอากาศเข้าไปช่วยการย่อยสลาย ซึ่ง อุปกรณ์เหล่านี้ ต้องใช้กระแสไฟฟ้า เป็นตัวหนุนมอเตอร์ ในขณะที่น้ำท่วม ท่านอาจจะปิดไฟฟ้าไว้ ดังนั้น หากจะถ่ายทุกข์ อย่างมีความสุข อย่าลืมเสียบปลั๊กไฟฟ้ากลับเข้าที่เดิมนะขอรับ (เขาเรียกว่าเส้นผมบังส้วม) 
  8. ถังบำบัดสำเร็จทุกยี่ห้อ จะต้องมีท่อให้น้ำไหลออกจากถังบำบัดสู่ท่อระบายน้ำในบ้านเรา หรือสู่ท่อสาธารณะ จะต้องตรวจเช็คว่า ระดับของท่อที่ออกจากถังบำบัด ว่าต้องสูงกว่าระดับท่อระบายน้ำเสมอ มิเช่นนั้น จะเกิดอาการ ไหลย้อนกลับอีกแล้ว 

261 ผมต้องตรวจสอบอะไรเกี่ยวกับระบบประปาบ้าง

ระบบประปาเป็นระบบที่เหมือนกับไม่มีปัญหา เพราะเหตุเกิดจากน้ำท่วม แต่หากมองข้ามไป อาจทำให้คุณ สูญเสีย ชีวิต อันเป็นที่รักยิ่งไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านที่มีระบบประปา ที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ขอแนะนำ การตรวจสอบดังต่อไปนี้

  1. คุณมีบ่อน้ำใต้ดิน หรือถังเก็บพักน้ำที่อยู่ในระดับที่น้ำท่วมถึงหรือไม่ หากคุณมี ก็ขอให้นึกเสมอว่า น้ำที่ท่วมถึงนั้น มิได้สะอาด เหมือนน้ำประปา (กรุณาอย่าฉุนเฉียว กลับว่าน้ำประปาบ้านเรานั้น แสนจะ ไม่สะอาด) ขอให้ทำการล้างถังน้ำ ที่น้ำท่วมถึง ให้สะอาดทั้งภายนอกภายใน (หากเป็นบ่อใต้ดิน ล้างเฉพาะ ภายในถัง ภายนอกคงไม่ต้องล้างกระมังครับ) อย่าเสียดายแรงงาน หรือเสียดายน้ำเลยนะครับ 
  2. บ้านที่มีระบบปั๊มน้ำ กรุณาตรวจสอบอุปกรณ์ปั๊ป รวมถึงถังอัดลมว่าอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี การตรวจสอบ ขั้นต้น อาจจะตรวจสอบ จากเสียงเครื่องจักรทำงาน ว่าผิดปกติหรือไม่ ตรวจสอบแรงดันน้ำ ว่าเหมือนกับสมัยที่ น้ำไม่ท่วมหรือไม่ ตรวจสอบ ถังลมว่า สามารถเก็บแรงอัดได้ดี และยาวนาน ตามที่น่าจะเป็นหรือไม่ … หากมีสิ่งผิดปกติ อาจจะต้องปรับ - ถ่ายระดับน้ำ ระดับแรงดัน ในหม้อลม อีกทั้ง น่าจะตรวจสอบดูว่า มีเศษผง ที่ลอยมากับน้ำท่วม ติดอยู่หรือเปล่า
  3. หากกรณีที่ปั๊มน้ำถูกน้ำท่วม ไม่น่าจะใช้การต่อไปเพราะจะมีอันตรายจากความชื้น ในตัวมอเตอร์ ที่อาจยัง สะสมอยู่ น่าจะไปหา ช่างมาตรวจสอบ ทำให้แห้งเสียก่อน ถ้าช่างยังไม่ยอมมา และคุณพอรู้เรื่อง เครื่องจักรกล บ้าง ก็ถอดเอาไปให้เขา ตรวจเช็ค (กรุณาอย่าเอาไปตากแดด แล้วคิดไปเองว่า ความชื้นหมดแล้ว เป็นอะไร ขึ้นมา ยามร้ายเมื่อหนีน้ำท่วมทัน แต่ไฟ กลับไหม้บ้าน หมดเสียนี่) 

 

262 ผนังบ้านแช่น้ำนาน ๆ เป็นอะไรมั๊ย จะแก้ไขดูแลอย่างไร..ฮึ !

วัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเกือบทุกอย่าง หากแม้โดนแช่น้ำไว้นาน ๆ ย่อมต้องมีอาการเสื่อมสภาพไป มากบ้าง น้อยบ้าง ตอบคำถามที่ว่า ผนังและสีทาบ้านที่ถูกน้ำท่วมแล้วเป็นอะไรหรือไม่ คงตอบว่า "เป็นอะไรแน่นอน" ขอให้คำปรึกษา ในการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้

  1. หากผนังทำด้วยไม้ ไม่ต้องทำอะไรมากปล่อยให้แห้งก็เพียงพอแล้ว ยกเว้นแต่ส่วนที่อยู่ ในระยะระดับที่ น้ำขึ้นลง อาจจะผุไปบ้าง (ธรรมชาติของไม้ หากอยู่แห้ง ๆ ก็ไม่เป็นไร หากอยู่ใต้น้ำเลย ก็ไม่ค่อยเป็นไร แต่หากอยู่บริเวณระดับที่เดี๋ยวน้ำขึ้น เดี๋ยวน้ำลง จะมีปัญหาเรื่องการผุกร่อนได้ง่าย ดูได้ตามเสาโป๊ะ หรือเสา ที่ปักไว้ในน้ำ จะเห็นได้ว่า ส่วนที่จะผุกร่อนก่อนที่สุด คือ บริเวณระดับผิวน้ำที่เดี๋ยวแห้ง เดี๋ยวเปียก) เมื่อน้ำในบ้านลดลง เอาผ้าเช็ดทำความสะอาด ขจัดคราบความสกปรกออก เพื่อสุขภาพของคนในบ้าน และเพื่อให้ผิว ที่ทำความสะอาดแล้ว สามารถระเหย ความชื้นออกมาได้ง่าย ทั้งไว้จนแน่ใจว่า ผนังของเรา แห้งดี จึงใช้น้ำยารักษาเนื้อไม้ ชะโลมลงที่ผิว (อย่าทาแลคเกอร์ หรือน้ำยารักษาเนื้อไม้ หรือสีทาผนัง ก่อนที่จะ ให้ตัวผนังแห้ง เพราะจะทำใ ห้น้ำและความชื้น ระเหยไม่ออก จะเกิดอาการ "ชื้นและผุฝังใน") การทาสี หรือทายารักษาเนื้อไม้ อาจจะทาเฉพาะ ด้านในตัวบ้านก่อนก็ได้ แล้วทิ้งไว้สัก หลายเดือน จึงค่อยทาสีภายนอก ตัวอาคาร เพื่อให้มั่นใจจริง ๆ ว่า ผนังของเรา แห้งสนิทแล้ว (อย่าอายใคร หากบ้านเรา จะไม่สวยสัก 5-6 เดือน เพราะเรื่องน้ำท่วมนี้ ไม่ใช่ความผิดของเรา… เราเป็นเพียง ผู้รับกรรมเท่านั้น)
  2. หากผนังของท่านเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูน ก็ดำเนินการในระบบที่คล้ายกับผนังไม้ ตามที่กล่าวแต่แรก แต่อาจจะต้อง ทิ้งเวลานานหน่อย เพราะการระบายความชื้น ของผนังก่ออิฐนั้น ยากกว่าผนังไม้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ ผนังไม้อาจแตกต่าง กับผนังก่ออิฐก็คือ "สิ่งที่อยู่ภายในผนัง" ไม่ว่าจะเป็นสายไฟฟ้า ท่อไฟฟ้า ท่อน้ำ ฯลฯ เราต้องตรวจสอบ สิ่งเหล่านี้ด้วยว่า อยู่ในสภาพเหมือนเดิม (รายละเอียด การดูแลตรวจสอบ กรุณาอ่านในข้อ การตรวจสอบระบบไฟฟ้า และระบบสุขาภิบาล) การให้ความชื้นระเหยออกง่าย ต้องพยายามไม่เอาสิ่งของ หรือตู้ โต๊ะ ตั้งติดไว้ที่ผนัง (ขอให้ทนความไม่สะดวกสบายสักพักเถอะครับ) แต่ก็กรุณา อย่าถึงกับเอา ไฟฟู่ มาเผาให้ผนังแห้งเร็ว เดี๋ยวกลายเป็น หนีน้ำท่วม ไปปะไฟไหม้ จะไม่คุ้มกัน บางคนอาจจะเอา ไฟ สปอตไลท์ มาส่อง ให้ความร้อน ผนังจะได้ระเหย เอาความชื้น ออกมาเร็ว ๆ ก็ไม่ค่อยคุ้มเท่าไร เพราะจะเสียค่า กระแส ไฟฟ้าจำนวนไม่น้อย (เก็บเงินค่าไฟฟ้าส่วนนี้ ไปใช้ในการซ่อมแซมบ้าน หลังน้ำท่วม ส่วนอื่น จะดีกว่า กระมังครับ)
  3. หากผนังของท่านทำด้วยยิบซั่มบอร์ด จะต้องเข้าใจในพื้นฐานและธรรมชาติของแผ่นยิบซั่มบอร์ด เสียก่อน ว่า เจ้าแผ่นนี้ เป็นเพียง ผงปูนยิบซั่ม ที่หุ้มด้วยกระดาษอย่างดี แต่ไม่ว่ากระดาษจะดีเพียงไร หากถูกน้ำท่วม สักพักเดียว รับรองว่า แอ่นยุ่ยกันเป็นแถว วิธีที่ดีที่สุด ก็คือเลาะเอาแผ่นยิบซั่มนี้ ออกจากตัวโครงเคร่าผนัง หากเป็นโครงเคร่าที่ทำด้วยโลหะ ก็สามารถติดแผ่นใหม่เข้าแทนที่ได้เลย แต่หากโครงเคร่าเป็นไม้ คงต้องทิ้ง ไว้ สักหลายวัน ให้ความชื้น ในโครงไม้นั้น ระเหยออกเสียก่อน จึงค่อยบุแผ่นใหม่ เข้าแทนที่ 
  4. ผนังที่ทำด้วยโลหะ หรือผนังที่ทำด้วยกระจก ยามน้ำท่วมคงจะไม่เป็นอะไรมาก แต่เมื่อน้ำลดแล้ว น่าจะ ต้อง ตรวจสอบ ตามซอก ตามรอยต่อ ว่ายังมีน้ำ หรือเศษขี้ผง ฝังในอยู่หรือไม่ หากมี ก็ทำความสะอาดเสีย (สิ่งที่น่าจับตามอง สำหรับผนัง หรือโครงอลูมิเนียมก็คือ น้ำอาจขังในท่อ ของอลูมิเนียมครับ)
  5. ผนังชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นผนังกระดาษอัด ผนังสังกะสี ผนังไม้อัด ฯลฯ จะมีธรรมชาติ คล้ายกับผนังทั้งสี่ อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ลองเปรียบเทียบดู แล้วแก้ไข ตามแนวทางนั้นๆ ขอให้โชคดีขอรับ 

 

263 สีทาบ้าน ทั้งสีน้ำ สีพลาสติก สีน้ำมัน ฯลฯ ต้องทำอะไรบ้าง

เรื่องขอการแก้ไขเกี่ยวกับสีทาบ้าน ขอให้เป็นสิ่งสุดท้ายหรือเกือบสุดท้ายที่เราจะซ่อมแซมบ้าน กรุณา อย่าอายใคร ที่เขาจะมาหาว่า บ้านเราสีกระดำกระด่าง หรือสีลอกเป็นขี้กลาก ปล่อยคนที่เขาดูถูกเราไปเถอะ เพราะเรื่องน้ำท่วม มิใช่กรรมของเรา ที่ก่อขึ้นมา (อย่างน้อย ก็ไม่ใช่ทางตรง) เขาจะว่าอะไร จะดูถูกอย่างไร ก็ปล่อยเขาไป (แล้วทำบุญกรวดน้ำ ให้เขา ลดอวิชชา ที่ครอบงำจิตใจเขาด้วย)

สีทุกชนิดที่เราใช้ทาบ้าน (ไม่รวมสีทาเรือ สีทาเครื่องบิน สีทาภายในถังน้ำ) เมื่อถูกความชื้นหนัก ๆ อย่างน้ำท่วมคราวนี้ จะต้อง มีอันเป็นไป เกือบทุกที่ ….ข้อคิดสำคัญ ในเรื่องของสีทาบ้าน ก็คือ ปัญหาของสีลอกสีล่อน หลัก ๆ ไม่เกิดเพราะ คุณภาพของสี แต่เกิดจาก ความไม่พร้อม ของพื้นผิวที่ทาสี หากพื้นผิว ที่จะทาสี เกิดความชื้น หรือมีสิ่งสกปรก ติดอยู่ ทาสีทับลงไปอย่างไร ก็ลอก ก็ล่อนออกหมด

ดังนั้นขอให้ใจเย็น ๆ อย่าเพิ่งทาสี ทำความสะอาดหรือลอกสีเดิมออก ให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ (ลอกเฉพาะ ตรงที่มีปัญหา ไม่ใช่ลอกหมดทั้งบ้าน) ทิ้งไว้นาน ๆ (อาจจะหลายเดือน จนถึงหน้าแล้ง ฤดูร้อนก็นับว่าไม่สายเกินไป)


 

264 เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า จมน้ำหมดเลย ทำไงดี

สิ่งที่ท่านถามมาทั้งหมดข้างต้นนี้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า มอเตอร์ หรือเครื่องกลต่าง ๆ (อาจจะรวมได้ ไปจนถึง รถยนต์ด้วยก็ได้) ล้วนแต่เป็น เครื่องจักรกล ที่อย่างเราอย่างท่าน ไม่น่าประมาท หรือรู้มาก เข้าไปแก้ไข ซ่อมแซมเอง ขอความกรุณาอย่าเพิ่งใช้ (หากไม่จำเป็นจริง ๆๆๆๆ) หากโดนน้ำท่วมแล้ว น้ำเจ้ากรรม ไหลเข้าไป ในเครื่องเรียบร้อยแล้ว (แถมยังแช่ไว้ด้วย) ถอดออกไปให้ช่างผู้รู้ เขาตรวจสอบดูก่อน ดีกว่า กรุณาอย่าประมาท เอาไปตากแดด แล้วคิดว่าแห้งแล้ว เลยนำไปใช้ต่อ เพราะความชื้นบางส่วน อาจจะฝังอยู่ข้างใน พอเครื่องกลนั้น ทำงาน โดยใช้กระแสไฟฟ้า อาจทำให้เกิดปัญหา กับตัวบ้าน หรือเป็นอันตราย ถึงชีวิตได้

หากแม้นจำเป็นจริง ๆ (ซึ่งผมหวังว่าคงจะไม่มี) ยามจะใช้เครื่องกลเหล่านั้นน่ามีข้อคิด 3ประการคือ

1.ตลอดเวลาที่ใช้ต้องมีผู้ใหญ่อยู่ใกล้ ๆ เสมอ เกิดอะไรผิดปกติขึ้นมาต้องดับเครื่องปิดเครื่องทันที

2. ที่คัทเอ๊าท์ไฟฟ้าหลักของบ้าน จะต้องมีฟิวส์ที่มีคุณภาพติดตั้งอยู่เสมอ เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ต้องแน่ใจว่า วงจรไฟฟ้า จะถูกตัดออก

3. เมื่อไรไม่จำเป็นจริง ๆ แล้ว พอมีเวลาบ้าง และพอมีงบประมาณ กรุณานำไปให้ช่างผู้รู้ ตรวจสอบเสีย


 

265 ประตูบ้านถูกน้ำท่วมบวมอลึ่งฉึ่ง ประตูเหล็กขึ้นสนิมหมดแล้วฮับ

ขอให้คิดว่าประตูหน้าต่างเวลาถูกน้ำท่วม จะเหมือนกับผนังที่ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน การที่ประตูไม้บวมเป่งขึ้นมา ก็เหมือนกับ ผนังไม้ หรือผนังยิปซั่ม ที่ปูดโปนขึ้น ส่วนประตูเหล็กที่ขึ้นสนิมนั้น ก็เป็นเรื่องของโลหะ ที่แช่น้ำ เมื่อแห้งแล้ว ก็ต้องเป็นสนิมไป เป็นปกติธรรมดา แนวทางแก้ไขมีดังต่อไปนี้

1. 1. ประตูไม้ หรือวัสดุที่เหมือนกับไม้ที่บวมขึ้นมาหรือผุพัง ก็เหมือนกับประตูห้องน้ำเรา ที่หลาย ๆ บ้านเป็น อันเกิดจาก ความชื้น ในห้องน้ำ แก้ไขโดยการทิ้งไว้ให้แห้ง ซ่อมแซมพื้นผิว เท่าที่ตนเองจะทำได้ หรือหาก หมดสภาพจริง ๆ และพอมีงบประมาณบ้าง ก็ซื้อใหม่ เปลี่ยนแปลงเสียเลย ก็ยังพอไหว

2. 2. ประตูเหล็กที่ขึ้นสนิม คงจะไม่ถึงผุพังด้วยระยะเวลาน้ำท่วมเพียงเท่านี้ (ยกเว้นแต่ผุมาก่อน) ก็จัดการ ขัดสนิมออก เช็ดให้ สะอาด แห้ง แล้วทาสีใหม่ทับลงไป ก็ถือได้ว่าเป็นอันเสร็จพิธี แต่ความน่าสนใจ ก็คือ ขอให้มั่นใจว่า น้ำหรือความชื้น ได้ออกไป หมดแล้ว ทั้งในท่อโครงเหล็กหรือบริเวณรอยต่อต่างๆ

3. หากท่านโชคไม่ดี บางครั้งท่านอาจจะมีประตูที่เกิดเอียงหรืออาการที่ภาษาช่างเรียกว่า "ประตูดก" อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะ เมื่อประตูหน้าต่าง (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ทำ ด้วยไม้ หรือวัสดุที่อมน้ำ) แช่น้ำนาน ๆ ประตูจะอมน้ำ จึงทำให้ตัวบานนั้น น้ำหนักมากขึ้น บานพับรับน้ำหนักไม่ไหว ประกอบกับตัววงกบ (โครงกรอบช่วงเปิด) เปื่อยยุ่ย เนื่องจาก การแช่น้ำ น๊อต หรือตะปูยึดเกาะได้ไม่เต็มที่ บานเลยเกิดอาการ เอียงลง… แก้ไขโดยพยายาม ใช้ค้ำยัน หรือลิ่มเล็ก ๆ สอดช่วยรับแรง ถ่ายน้ำหนัก ของ บาน เอาไว้ก่อน ค่อย ๆ รอจนความชื้นระเหยออก น๊อตตะปูก็จะยึดติดดีขึ้น น้ำหนักบานก็จะน้อยลง อาการก็จะกลับมาเหมือน เกือบปกติ (อาจจะไม่ปกตินัก แต่ก็นับว่า ไม่เป็นไร)


 

266 บานพับ ลูกบิด รูกุญแจ เหล็กดัด หลังน้ำท่วมต้องทำอะไรบ้างดี

คงเป็นคำถามที่ต่อเนื่องจากปัญหาที่แล้ว ซึ่งว่าด้วยเรื่องประตูหน้าต่างที่เกิดปัญหาขึ้นหลังน้ำท่วม บานพับ ลูกบิด กุญแจ เหล็กดัด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำด้วยโลหะก็เกิดปัญหาตามมา ขอตอบสั้น ๆ ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

  1. เช็ดน้ำและพยายามให้ความชื้นระเหยออกให้หมด หรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 
  2. หากเกิดสนิมตรงที่ใด ก็ขัดเอาสนิมเหล่านั้นออกเสียโดยเร็ว อย่าปล่อยทิ้งไว้ 
  3. ใช้น้ำยาหล่อลื่นสารพัดประโยชน์ (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "โซเล็กซ์") หยอดชะโลม ตามจุดต่อ ตามข้อต่อ ตามเฟือง และตามรูต่าง ๆ ให้ทั่ว (คงไม่ถึงขนาด เป็นมันเยิ้ม ๆ จะทำให้สิ่งของรอบข้างเลอะเทอะ และเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์)
  4. อย่าเพิ่งใช้จารบี หรือสารจำพวกขี้ผึ้งอุดหรือทา เพราะความชื้นทั้งหลายอาจจะยังระเหยออกไม่หมด จะทำให้ระเหยออก ได้ยากขึ้น ความชื้นเลยเกิดอาการ "ฝังใน" จะมีปัญหาภายหลัง 
  5. หากยังเกิดปัญหาอีก กรุณาเริ่มทำใหม่ตั้งแต่ข้อแรกจนถึงข้อนี้ รับรองว่ากว่า 90 %ปัญหาจะไม่หนี ไปนอกรอบ ที่กล่าวไว้

 

267 น้ำท่วมฝ้าเพดาน แก้ไขอย่างไรได้บ้าง (ซีเรียสนะ)

ผมเชื่อว่าซีเรียสและเป็นเรื่องจริงครับ แต่ขอภาวนาให้เป็นการท่วมฝ้าเพดานของห้องใต้ดิน ไม่ใช่ฝ้าเพดาน ของบ้านชั้นที่สองนะครับ

น้ำท่วมฝ้าเพดานนี้ คงจะต้องใช้แนวทางแก้ไขคล้ายกับน้ำท่วมพื้นและท่วมผนังปนกัน สรุปความอีกครั้ง ได้ว่า

  1. ตรวจสอบถึงวัสดุฝ้าเพดานว่าทำด้วยอะไร หากเป็นวัสดุที่เปื่อยยุ่ยจากการถูกน้ำท่วมได้ เช่นฝ้ายิปซั่มบอร์ด หรือฝ้า กระดาษอัด คงจะต้อง เลาะออกแล้วเปลี่ยนใหม่ (หรือหากไม่มีงบประมาณ ก็ทิ้งเอาไว้โล่ง ๆ อย่างนั้นก่อน ไม่ต้องอายใคร ย้ำ ไม่ต้องอายใคร) หากเป็นฝ้า ประเภทที่ไม่เปื่อยยุ่ย และอมน้ำ อมความชื้นมาก ก็พยายามผึ่งให้แห้ง อย่าทาสี หรือน้ำยากันความชื้น ระเหยออก หากเป็นฝ้าโลหะ ให้ตรวจสอบสนิมหรือน้ำ จัดการขัดหรือเช็ดออกให้หมด 
  2. สำรวจฝ้าเพดานทั้งผืนทุกห้องทุกที่ ว่ามีน้ำขังอยู่หรือไม่ (เจาะหรือเปิดฝ้าเพดานแล้วโผล่ศีรษะ พร้อมส่อง ไฟฉาย ตรวจดู) หากพบ ต้องระบายน้ำออก ให้หมด โดยทันทีทันใด (เจาะรูตรงที่น้ำเป็นแอ่งขัง ณ จุดนั้นนั้น) อย่าขี้เกียจ ตรวจเช็คเป็นอันขาด
  3. ฝ้าเพดานส่วนใหญ่จะมีสายไฟ ดวงโคมติดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นระบบเดินสายไฟฝังหรือสายไฟลอย ต้องตรวจสอบสภาพ ว่าดีสมบูรณ์ ตามรายการ ที่เคยกล่าวไว้เรื่องของการตรวจสำรวจระบบไฟฟ้าหลังน้ำท่วม 
  4. มดและแมลงตลอดจนหนูหรือสัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ อาจหลบเข้าไปในฝ้าเพดาน (แล้วหาทางออกไม่ได้) ต้องทำการไล่ พิฆาต ออกให้หมด จึงจะปิดฝ้าเพดาน ไม่เช่นนั้นอาจจะรบกวนและเป็นอันตรายภายหลังได้ 

268 วอลล์เปเปอร์ และผ้าม่านจมน้ำ เป็นคราบน่าเกลียด แก้ยังไง

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับท่านว่า ท่านคงเป็นผู้ที่มีฐานะบ้าง และคงไม่เดือดร้อนแสนสาหัส ดังเช่นประชาชน ที่ถูกภัยน้ำท่วม ส่วนใหญ่ของประเทศ

เรื่องผ้าม่านคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่จะซ่อมแซมดูแล ก็เหมือนกับเสื้อผ้าทั่วไปที่ถูกน้ำท่วม หากแม้น สามารถ ถอดออกมาซัก ทำความสะอาดได้ ก็ดำเนินการเสีย แต่หากสกปรกมากและเปื่อยยุ่ย ท่านก็คงต้องหาซื้อมาเปลี่ยน ตามสมควร ส่วนเรื่องวอลล์เปเปอร์นั้น ก็เหมือนกับเรื่องสี หากมีปัญหาเรื่องลอก เรื่องล่อน ก็ทำการลอก ออกเสีย เพื่อให้ความชื้นในผนังนั้น สามารถระเหยออกมาได้ง่าย (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วอลล์เปเปอร์ที่ทำด้วย ไวนีลหรือวัสดุประเภทยาง น่าจะต้อง รีบลอกออก เพราะเป็นตัวกักความชื้น ในผนังได้อย่างดี) เมื่อผนังแห้ง หมดแล้ว แห้งดีแล้ว จึงให้ช่างปูวอลล์เปเปอร์ มาลอกออก แล้วปิดทับเข้าไปให้งดงามครับ


269 พื้นหลังน้ำท่วม ทั้งพรมทั้งกระเบื้อง ทั้งหินอ่อนหินขัด สกปรกจัง

พื้นสกปรกก็ขอให้ทำความสะอาดเสียก็จบเรื่อง แต่ความน่าสนใจ สำหรับพื้นที่ถูกน้ำท่วมก็คือ วัสดุปูพื้น ที่เสียหายต่างหาก เคยพูดไว้ ในข้อต้น ๆ ว่า หากพื้นไม้ปาเก้ ถูกน้ำท่วมจะต้องทำอย่างไร แก้อย่างไร ตอนนี้ อยากจะเล่า ให้ทราบถึง เรื่องพื้นปูพรม หากถูกน้ำท่วม คงจะต้องรื้อพรม ออกให้หมด เพราะ ปล่อยไว้ จะเกิดอาการ "พรมเน่า" ส่งกลิ่นเหม็น รบกวนท่าน ชั่วนาตาปีทีเดียว เมื่อลอกพรม ออกแล้ว นำพรมไปซัก และตากแดด ให้แห้ง แล้วจึงนำกลับมาปูใหม่ (พรมอาจจะยืด จะหด ไปบ้าง คงจะต้อง ยอมรับสภาพครับ)

สิ่งสำคัญก็คือตอนที่จะปูทับกลับไป ต้องมั่นใจว่าพื้นคอนกรีตของเรานั้น จะต้อง แห้งเพียงพอ มีเวลาให้ ความชื้น ที่สะสมไว้ ในตัวคอนกรีต ระเหยออกมา เสียก่อน (กรุณาอ่านเรื่องพื้นปูปาเก้ ให้เข้าใจอีกครั้ง)


 

270 มีน้ำผุดขึ้นกลางบ้าน แปลว่าอะไร ไม่เห็นสนุกเลย

หากเป็นผมก็คงจะไม่สนุกเหมือนกันละครับ เพราะอยู่ดี ๆ ก็มีน้ำผุดขึ้นมากลางบ้าน ปัญหาที่คาดการณ์ (เพราะไม่ได้เห็น สถานที่จริง) น่าจะเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  1. ระบบโครงสร้างเกิดอาการแตกร้าว ซึ่งอาจจะแตกร้าวอยู่เดิมแล้ว หรืออาจจะเกิดการแตกร้าวจากแรงดันน้ำ อันเนื่องมาจาก น้ำท่วม การแก้ไขก็คือพยายามหาแนวที่แตกร้าวนั้นให้พบ (ส่วนใหญ่ จะเป็นรอยแตก ที่พื้น หรือผนัง ส่วนล่าง) แล้วพยายามติดต่อสอบถามผู้รู้ต่อไป อย่าพยายามซ่อมเอง เพราะอาจยิ่งเกิดปัญหา และอาจ เป็นอันตรายได้ 
  2. รั้วเนื่องจากรอยต่อของพื้นกับผนังไม่สนิท หรือระหว่างพื้นกับพื้นไม่สนิทกัน อาจเพราะระบบ โครงสร้าง อาคาร เป็นโครงสร้าง ระบบพื้นสำเร็จ ที่ก่อสร้างไว้ ไม่เรียบร้อย หรือเพราะเป็นระบบโครงสร้าง เป็นระบบ พื้นวาง ถ่ายน้ำหนักบนดิน (Slab on Ground) ซึ่งออกแบบให้เนื้อคอนกรีตพื้น ไม่ต้องเชื่อมประสานกับคาน แต่ให้ถ่ายน้ำหนักพื้น ลงไปที่ แผ่นดินเลย โครงสร้างระบบที่ว่านี้ จึงอาจมีรอยรั่ว ตรงบริเวณรอยต่อ เพราะ ปูนทราย ที่อุดไว้เสื่อมสภาพ หรือเสียหาย จากแรงดันน้ำ แนวทางแก้ไข คงต้องพยายามหาแนว ที่น้ำรั่วเข้า ให้ได้ (จะมีรอย หรือเส้นที่มีสีเข้ม กว่าปกติ) แล้วอุดรอยเหล่านั้น ให้เรียบร้อยอ าจจะด้วยซิลิโคน ที่ยาตู้ปลา ก็พอไหว
  3. เกิดจากรูที่ บริษัทกำจัดปลวกเขาเจาะเอาไว้ ตอนที่จะฉีดอัดน้ำยากำจัดปลวก แล้วไม่มีการอุดปิด ให้เรียบร้อย แนวทางการแก้ไข ก็คือจัดการอุดเสียให้เรียบร้อย 

กรุณาอย่าตกใจ กับสิ่งที่เกิดนี้ พยายามหาเหตุให้พบ แล้วแก้ไขเสีย หากยังหาเหตุไม่พบ หรือหาพบแล้ว แต่ แก้ไข ไม่ได้ กรุณาติดต่อผู้รู้ ( ผู้รู้แปลว่าผู้รู้ ไม่ได้แปลว่า ผู้ไม่ค่อยรู้ แต ่ช่างพูด)


 

271 ผมอยากซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม แต่ช่างเล่นตัวจัง ไม่ยอมรับทำ

IMF มาช่วยแล้วครับ ไม่ต้องห่วง size=6.21kbคงเป็นเรื่องที่เราต้องทำใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณต้องการซ่อมอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะตอนนี้ ความต้องการตลาด มากกว่าช่างที่มีในตลาด (Demand over Supply) อย่าไปคิดมาก คงต้องพยายาม ช่วยตัวเอง ให้มากที่สุด อะไรทำเองได้ ก็คงต้องทำกันไป หากคิดไม่ออก กรุณาจดหมาย หรือโทรสาร มาที่สมาคม สถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดูก็ได้ หากเราทำได้พร้อมและยินดีช่วยเหลือทันที (ไม่เสียตัง)… นี่ไม่ใช่การพูดด้วยปากหวานนะครับ คำตอบที่ตอบไป อาจไม่ถูกใจผู้ถาม และไม่เป็นคำตอบ ที่ตรงคำถาม แต่ผมไม่ทราบจริง ๆ ว่า จะช่วยอย่างไร คงเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่จะตอบได้ครับ

 

272 บ้านเป็นแอ่ง เพื่อนบ้านและถนนหน้าบ้านอยู่สูงมาก ทำไงดี

ทำอะไรคงจะยากหน่อยนะครับ เพราะถ้าจะถมดินตามเพื่อนบ้านเขาคงจะลำบาก เนื่องจากบ้านชั้นล่าง ของคุณ อาจจะหายไป แนวทางการแก้ไขคงจะต้องเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ คือพยายาม ทำเขื่อน รอบบ้าน เอาไว้ (บริเวณประตูเข้าบ้าน คงต้องออกแบบ เตรียมพร้อม ที่จะเป็นเขื่อนชั่วคราว หรือเป็นแนว กระสอบ ทราย) รอบ ๆ บ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณที่มีระดับต่ำ ให้ขุดหลุมเอาไว้ ให้น้ำไหลลง (จำนวนบ่อ ขนาดของบ่อ และความลึกของบ่อ คงแล้วแต่ขนาดของบ้านคุณ) และเตรียมเครื่องสูบน้ำเล็ก ๆ เตรียมเอาไว้ เพื่อยามน้ำท่วม หรือฝนตกหนัก จะได้สูบออกไปได้ (แต่อย่าสูบเข้าบ้านเพื่อนนะครับ เพราะอาจมีรายการ ชกปากกันได้) พยายามที่จะระบายสูบออกสู่ ทางระบายน้ำสาธารณะ (ซึ่งบางครั้ง ก็มีน้ำเต็มท่วมไปหมดแล้ว) หากตัวบ้านของคุณ มีแอ่งเป็นจุด ๆ คงจะต้องปรับพื้นที่ ในบ้านคุณใหม่ ให้พยายามเอียงไปทางเดียวกัน และเอียงไปสู่ บ่อที่เราเตรียมเอาไว้ การระบายน้ำภายในบ้าน จะได้สะดวก และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อย่างรวดเร็ว


273 หมู่บ้านหนู น้ำมันท่วมทั้งหมู่เลยจะย้ายบ้านก็ไม่มีตัง เฮ้อ !

ความลำบากในการแก้ปัญหานี้ก็คือการต้องสามัคคีกันในการแก้ปัญหา ต้องพยายามรวมกลุ่มกัน เห็นอก เห็นใจกัน ไม่เห็นแก่ตัว(เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะหายากมาก ในสภาพของสังคมไทยปัจจุบันก็จริง แต่ผมเชื่อว่า เรายังมีคนดี มีเหตุผลอีกมากมาย ในแผ่นดินนี้) ดังนั้นการแก้ปัญหาหมู่บ้านน้ำท่วม ทั้งหมู่ คงต้องเป็นการ แก้เชิงบริหาร ผสมกับเชิงช่าง ให้พอเหมาะพอควรครับ

น้ำท่วมหมู่บ้านนั้น ปัญหา คงจะคล้ายกับ น้ำท่วม บ้านเรา บ้านเดียวที่เป็น แอ่งอันเกิดจาก ระดับของ เพื่อนบ้าน และ ระดับถนนนั้น สูงมากกว่าเรา แต่ปัญหา น้ำท่วมหมู่บ้าน เป็น ปัญหาของคนหลาย ๆ คน บ้านหลาย ๆ บ้าน การแก้ไข คงต้องเป็น การแก้ไข ที่ปลายเหตุเช่นกัน (เนื่องจากสร้างเสร็จแล้ว) ก็คือพยายาม ทำเขื่อนขึ้นมา กันน้ำ แล้วมีบ่อเก็บน้ำ เพื่อที่จะปั๊มน้ำออกไปจากหมู่บ้าน


274 บันไดผุเพราะน้ำท่วม พื้นก็ผุเพราะน้ำท่วม ซ่อมอย่างไร

บันไดที่กล่าวถึงน่าจะหมายถึงบันไดไม้ และ พื้นที่กล่าวถึง ก็น่าจะ หมายถึง พื้นบ้าน ที่เป็นไม้เช่นเดียวกัน หากผุ อันเนื่องจาก การท่วมของน้ำคราวนี้ ไม่ใช่เป็นการผุมาก่อน ไม่ต้องทำอะไรมาก พยายามอย่าไปทำอะไร รุนแรง กับเขา ปล่อยให้เขาค่อย ๆ แห้งไปเอง ก็อาจกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม กรุณาอย่าถอดออกไปตากแดด เพราะไม้ที่ชื้น และอิ่มน้ำอยู่ จะแตก และเสียหายได้ ต้องค่อยเป็นค่อยไปครับ

หากบันไดหรือพื้นของท่านผุกร่อนมาแล้วก่อนที่จะเกิดน้ำท่วม คงจะต้อง ดามหรือ เปลี่ยน แผ่นไม้ใหม่ หากมีงบประมาณ ไม่ครบทั้งหมด แนะนำ ให้เปลี่ยนไม้ ที่บันไดก่อน เพราะ บันได น่าจะมีความแข็งแรง เพียงพอที่จะรับแรงกระแทกได้


275 พ่อผมจะสร้างบ้านใหม่ ต้องคิดถึงอะไรบ้างเรื่องน้ำท่วม

ความจริงแล้วการสร้างบ้านใหม่สักหลัง คงต้องคิดอะไรมากมายไปกว่าการคิดเรื่องน้ำท่วมอย่างเดียว แต่คำถาม ที่หนูถามมา เป็นเรื่องการสร้างบ้าน และคิดถึงปัญหาน้ำท่วม จึงขอตอบเฉพาะประเด็นนี้เท่านั้น เพื่อให้ การตอบ เป็นไปตามหลักวิชาการ ผมขอนำบทความของ คุณพิศิษฐ์ โรจนวณิช ผู้ช่วยอุปนายก ฝ่ายวิชาการ ของสมาคมสถาปนิกสยาม ฯ ที่เคยบันทึกเอาไว้ เรื่องการวางผังบ้าน (ทั้งบ้านที่จะสร้างใหม่ และ บ้านที่สร้างไปแล้ว) ดังนี้

การวางมาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของบ้านท่าน

1.) กรณีความเสี่ยงต่ำ สังคายนาระบบระบายน้ำภายในบ้านเพื่อกำจัดน้ำท่วมขัง กรณีที่ บ้านตัวเอง น้ำท่วมขัง แต่ถนนไม่ท่วม และ ที่ก็ไม่ต่ำ ให้คิดดังนี้
- เน้นการวางความลาดเอียง (Slope) ของท่อระบายน้ำให้ถูกต้อง มีบ่อพักให้ถูกต้อง กับความลาดเอียง ของ ภูมิทัศน์ รอบบ้าน ถูกต้อง ตามหลักการ ระบายน้ำ

2.) กรณีความเสี่ยงปานกลาง ในกรณีที่ที่ดินไม่ต่ำมากอาจ
- ต้องเตรียมดูลู่ทางในการป้องกันน้ำ หากเกิดน้ำท่วมโดยสร้างมาตรการเพิ่มเติม เช่น สะสมกระสอบทราย เตรียมเครื่องปั๊มน้ำ โดยอาศัยดูดจากบ่อพักเดิมที่มีอยู่
- อาศัยโครงเก่า ๆ ของรั้วบ้านเป็นเหล็ก เสริมแต่งให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในการป้องกันน้ำท่วม

3.) กรณีความเสี่ยงสูง ที่ต่ำมากต้องทำขอบคันดินรองบ้านหรือทำรั้วข้างล่างให้ทึบรอบบ้าน ที่แน่ใจที่สุดคือ ให้ตรวจสอบและบันทึกระดับน้ำท่วมปีนี้ได้แล้ว ทำรั้วทึบ ให้ไม่น้อยกว่า ระดับน้ำที่บันทึกไว้นั้น

ทางเข้าหน้าบ้าน ทำเป็นความลาด (Slope) หลังเต่า เพื่อกันน้ำไม่ให้เข้าบ้านด้านถนน จากนั้นทำความลาด เพื่อรวมน้ำทั้งบริเวณ ทำประตูน้ำ Sluice Gate เพื่อให้ สามารถปิดส่วนเชื่อมต่อท่อระบายน้ำ ภายในบ้าน กับระบบท่อสาธารณะได้ ติดตั้งระบบปั๊มน้ำและบ่อรับน้ำ กรุรอบ ๆ บ่อรับน้ำ ด้วยลวดกรงไก่ เพื่อกันขยะ ไม่ให้ลงไปในบ่อ เวลา สูบน้ำ ขึ้นอยู่กับระบบท่อระบายรอบบ้านเดิม อาจต้องทำรางระบายน้ำ รอบบ้านใหม่ เพื่อรับน้ำ จากบริเวณต่าง ๆภายในบ้าน เพราะหากจะให้ดี น่าจะ สามารถ สกัด น้ำใต้ดิน ที่ซึมเข้ามาด้วย

อีกวิธีคือ ถมที่เพิ่ม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ก็ได้ผลดี หรืออาจจะทำทั้งสองวิธีควบกันไป หากท่านอยู่ ในเขต ที่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมสูงมาก ๆ เช่น ท่วมถึงหน้าอก คือยกระดับดินด้วยยกขอบคันกันน้ำด้วย

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
ก.) ควรจะหาการประเมิน ความเสี่ยงของพื้นที่ที่ตัวเองอยู่เช่น
- เช็คระดับน้ำท่วมเอาไว้ พยายามหาระดับของบ้านตัวเองกับระดับอ้างอิง เช่น ระดับน้ำทะเลปานกลาง
- ตรวจสอบระบบป้องกันน้ำท่วม ในระดับที่ครอบคลุมมากกว่าบ้านตัวเอง เช่น ระดับหมู่บ้าน ระดับเมือง 
(หากอยู่ในกรุงเทพมหานคร กทม. ท่านมีแผนอยู่แล้วควรตรวจสอบว่าเราอยู่บริเวณไหนของ แผนป้องกัน น้ำท่วม ของกทม.)
ข.) แผนฉุกเฉินต้องมีไว้เสมอ แม้กระทั่งผู้ที่อยู่ในเขตความเสี่ยงน้อย เพราะโอกาสน้ำท่วม ฉับพลัน จากฝนตก หนัก ระบายไม่ทันยังมีอยู่ จำไว้เสมอ น้ำท่วม ห้ามไม่ได้ และ มีหลายสาเหตุ การตั้งถิ่นฐานของคนไทย โดยอยู่ใน ที่ราบการเกษตรมาตลอด ทำให้มีความเสี่ยงตลอดเวลา ประกอบกับระบบนิเวศน์ของโลกมีความแปรปรวน

โดยสรุปคือต้องไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ปัญหาใหญ่จะเกิดสำหรับที่เคยอยู่อาศัยในเขตความเสี่ยงต่ำ ที่ย้ายไป อยู่ ในเขตความเสี่ยงต่อน้ำท่วมสูง พร้อมกับ พกทัศนคติ เดิม ๆ ติดตัวไปด้วย ควรระวัง
ทำแผนฉุกเฉินรับมือ หากเกิดน้ำท่วมจะทำอะไรบ้าง เช่น รถจะไปจอดที่ไหน, สัตว์เลี้ยงทำอย่างไร, ของสำคัญ ต้องขนย้าย ทำเป็นรายการย่อยบันทึก (Check List) เอาไว้


 

276 อยากยกบ้านทั้งบ้านให้สูงขึ้น ทำยังไง อย่างไร เท่าไร

การยกบ้านให้สูงขึ้น หมายถึงการยกตัวโครงสร้างทั้งหมดของบ้านให้มีระดับหนีน้ำท่วมบ้าน เป็นสิ่งที่น่า สนใจ แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง หากบ้านของคุณ ไม่ใช่บ้านไม้ และไม่ใช่บ้านที่มีน้ำหนักเบา เพราะหากเป็น บ้านที่ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก (ภาษาชาวบ้านเรียกว่าบ้านปูน) โครงสร้างของบ้าน จะยึด ติดกัน เป็นเนื้อเดียว หากยกบ้านขึ้น (ส่วนใหญ่จะด้วยแม่แรง แบบการยกรถยนต์) ตัวบ้านเอียง หรือบิด เพียงนิดเดียว บ้านก็จะแตกร้าว เสียหายวิบัติได้ นอกจากนั้น บ้านปูนจะมีน้ำหนักมาก ทำให้ต้องมีเสาเข็มยาว ๆ มารับน้ำหนักบ้าน เสาเข็มนี้ ส่วนใหญ่ จะเป็นเสาเข็มปูน ที่มีเหล็กเส้น ผูกติดยึด ไว้กับตัวฐานราก เมื่อยก ตัวบ้านขึ้น ก็เป็นเพียงการยกแต่ตัวบ้าน ไม่สามารถยกเสาเข็ม ขึ้นมาด้วย การต่อฐานราก กับเสาเข็มใหม่ จึงเป็นเรื่องยาก ในอนาคตอาจมีปัญหาเรื่องบ้านทรุดบ้านร้าวได้

นอกจากเรื่องโครงสร้างแล้ว เมื่อยกบ้านปัญหาพวกสายไฟ ท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ก็จะเป็นปัญหา ที่ต่อเนื่อง ตามมา ที่จะต้องตัดออก ทั้งหมด แล้วต่อใหม่เข้าไป เมื่อยกระดับบ้านเสร็จเรียบร้อย หากท่อเหล่านี้ อยู่ ใต้ พื้นบ้าน บริเวณกลาง ๆ บ้าน ย่อมจะตัดออกจากกัน ตอนจะยกบ้าน ได้ยาก หากตัดไม่หมด แล้วยกขึ้น ก็อาจไป ดึงโครงสร้าง ของบ้านส่วนอื่น ๆ เสียหายได้

การต้องการจะยกระดับบ้านทั้งหลังขึ้นมา (บ้านปูน) เป็นเรื่องที่ต้องปรึกษาผู้รู้จริง และมีประสบการณ์เท่านั้น และส่วนผู้รับเหมาก่อสร้าง ก็ต้องเป็นผู้รู้จริงด้วย มิเช่นนั้นท่านอาจจะเสียบ้านไปทั้งหลัง ส่วนราคาค่ายกบ้าน ก็แล้วแต่ระดับที่ยกขึ้น แล้วแต่ขนาดของตัวบ้าน แล้วแต่ลักษณะของตัวบ้าน โดยทั่วไป ราคาจะประมาณ 50% ถึง 400% ของราคาตัวบ้าน

ส่วนบ้านไม้นั้น หากใช้เทคนิคไทยเดิมของเรา ผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ใช่เป็นเรื่องยากนัก (บ้านไม้ แปลว่า ทั้งโครงสร้าง และองค์ประกอบเป็นไม้ ไม่ใช่โครงสร้างเป็นปูน มีเพียงผนัง หรือพื้น เป็นไม้เท่านั้น)


277 บ้านผมน้ำ ไม่เคยท่วม จนกระทั่งหลวงท่านสร้างถนนถึงเกิดปัญหา

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่มีการถกเถียงกันมานาน เพราะบ้านที่สร้างแต่เดิมคิดว่ามีระดับที่สูงเพียงพอแล้ว วันดีคืนดี (หรือวันร้าย คืนร้าย) ก็มีการสร้างถนนหน้าบ้าน ที่มีระดับสูงขึ้นอย่างน่ากลัว ทั้งระดับผิวถนน และระดับของ ท่อ ระบายน้ำ ที่สร้างขึ้นใหม่ ทำให้ท่อระบายน้ำ ที่เคยระบายน้ำออกจากบ้าน กลายเป็นท่อรับน้ำ จากถนน หลวง เพราะระดับใหม่ ของท่อระบายน้ำถนน สูงกว่าระดับของ ท่อระบายน้ำ บ้านเราเสียแล้ว คิดจะยก บ้านหรือ ก็ไม่กล้า คิดจะถมบ้านหรือ ก็ต้องเสียชั้นล่างไปทั้งชั้น ยามหน้าแล้งกินฝุ่น ยามหน้าฝนก็กินน้ำ ลำบาก ก้มหน้าพูดไม่ออก บอกไม่ถูก

 

ผมทราบแต่เหตุ แต่ไม่ทราบจะช่วยเหลืออย่างไรจริง ๆ เพราะประเทศเรา ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างออกคำสั่ง ไม่ประสานกัน และ เห็นประชาชน เป็นผู้ที่มีความสำคัญน้อยที่สุด อยู่เสมอ ๆ บ้านเราไม่คอยจัดเตรียม เรื่องผังเมือง เราไม่มีผังเฉพาะ ที่จะมาเป็น เกณฑ์กำหนด ทั้งระดับ และระนาบของเมือง คงจะต้องขอฝากให้ ภาครัฐท่านละครับ ส่วนผู้ถามนั้น คงจะต้องช่วยตัวเองให้ได้ อย่าไปคิด เคียดแค้น กับรัฐท่านมาก คงต้องช่วยกัน ร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐและเอกชนต่อไป

 

278 เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ หลังน้ำท่วม

ขอให้คิดเสมือนว่าเฟอร์นิเจอร์นั้นเป็นเครื่องใช้ เป็นพื้นบ้านและเป็นผนังบ้านอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือปนๆ กันไป ดังนั้น การแก้ไข เฟอร์นิเจอร์หลังน้ำท่วม ก็คงจะคล้ายกับการแก้ปัญหา เรื่องประตูหน้าต่าง เครื่องไม้ เครื่องมือ พื้นบ้าน ฝ้าเพดานบ้าน และผนังบ้านปน ๆ กันไป สรุปข้อคิดและแนวทางการแก้ไขไว้ดังต่อไปนี้

1. พยายามเอาความชื้นออกจากเฟอร์นิเจอร์ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้อย่างรวดเร็ว

2. เฟอร์นิเจอร์ที่อมน้ำมาก ๆ เช่น โซฟานวมหรือนุ่น ที่นอนหากไม่จำเป็นอย่าเอากลับมาใช้อีกเลย เพราะตอนน้ำท่วม จะพาเชื้อโรค และสิ่งไม่พึงประสงค์เข้าไปอยู่ภายในไม่น้อย แม้ตากแดดแห้งแล้ว เชื้อโรคร้าย ก็อาจยังคงอยู่ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในระยะยาวได้

3. เฟอร์นิเจอร์ประเภทติดกับที่ (Built In Furniture) ขอให้แก้ปัญหาเหมือนผนังและประตู คือต้อง ตรวจสอบ ความแข็งแรง ของโครงสร้าง สายไฟที่อาจจะฝังอยู่ในตู้ รูกุญแจและลูกบิด ทำการบำรุงรักษา ให้อยู่ ในสภาพ เรียบร้อย เหมือนเดิม หรือใกล้เคียงของเดิม

4. ข้อควรจำก็คือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้ ไม่ควรเอาไปตากแดดโดยตรง เพราะจะทำให้แตก เสียหายได้ อีกทั้งยาม จะทาสีทับลงไป ก็ขอให้มั่นใจว่า เขาแห้งแล้วจริง ๆ ไม่เช่นนั้นสีจะลอกหมด ความชื้นจะฝังใน


279 น้ำท่วมช่องลิฟต์ น้ำท่วมห้องเครื่อง น้ำท่วมหม้อแปลงไฟฟ้า

น้ำท่วมลิฟต์ ห้องเครื่อง หม้อแปลงไฟฟ้า หรือส่วนที่เป็นเครื่องกลสำคัญต่าง ๆ ของอาคาร กรุณาอย่าซ่อมแซมเอง ให้เรียกบริษัท หรือช่างผู้รู้จริงมาตรวจสอบ และแก้ไขเสีย จะต้องเสียงบประมาณเท่าไรก็ต้องยอม


280 พี่ พี่ สถาปนิกเขาจะช่วยคนบ้านน้ำท่วมได้อย่างไรบ้าง

สถาปนิกเป็นคนไทยคนหนึ่ง สถาปนิกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สถาปนิกส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ร่ำเรียน วิชาติดตัวมา ก็เพราะภาษีอากร จากราษฎรไทย จึงเป็นหน้าที่ และ ภารกิจ ทั้งทางตรง และ ทางอ้อม ทั้งที่ลับ และที่แจ้งของสถาปนิก ที่จะต้องรับใช้ ช่วยเหลือประชาชน ในวิชาชีพที่ตนเองมี ยามที่ประชาชนต้องการ

วิชาชีพสถาปัตยกรรม เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวกับการวางผัง จัดบ้าน จัดเมือง สร้างบ้านสร้างเมือง บำรุงรักษา อาคารบ้านเมือง ดังนั้นสถาปนิก น่าจะช่วยหนูได้ หากหน ูมีปัญหาเกี่ยวกับบ้านหนูหลังน้ำท่วมครั้งนี้

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสมาคมของเหล่าสถาปนิกในประเทศไทย ยินดีให้คำปรึกษา และช่วยเหลือ ทุกท่านที่เดือดร้อน เกี่ยวกับ บ้าน หลังน้ำท่วม ตามแนวทาง วิชาชีพสถาปัตยกรรม ที่ร่ำเรียนมา หากท่านมีปัญหากรุณาติดต่อได้ที่

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
248/1 ซอยโรงเรียนญี่ปุ่น ถนนพระรามที่ 9 
เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310
โทรศัพท์ 319-6555 โทรสาร 319-6149