Home » บทความทั่วไป ความรู้น้ำท่วม » การให้ความร่วมมือกับตำรวจ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
การให้ความร่วมมือกับตำรวจ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน

เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของท่าน โปรดให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนี้

         1. ปฏิบัติตามคำแนะนำ ในคู่มือประชาชนเล่มนี้ และแผ่นปลิวแผ่นพับเกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมประเภทต่าง ๆ  คำแนะนำเพื่อ ความปลอดภัยของบุตรหลาน, การป้องกันและระงับอัคคีภัย ,การป้องกันยาเสพติดให้โทษ ,คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย

         2. จดบันทึกรายการทรัพย์สินภายในบ้าน ตำหนิรูปพรรณ  หมายเลขเครื่อง หมายเลขทะเบียนทรัพย์สินที่มีค่าภายในบ้านของท่าน
 ทำเครื่องหมายหรือสลักหมายเลขบัตรประจำตัวของท่านลงบนทรัพย์สินเหล่านั้น  และทำบัญชีเก็บไว้ในที่มิดชิด และถ่ายรูปทรัพย์สินเหล่านั้นไว้ด้วย
(ตามแบบฟอร์มท้ายนี้) เพื่อง่ายต่อการแจ้งหายและผลในการติดตามและยืนยันแสดงความเป็นเจ้าของเมื่อตรวจพบของที่หายตลอดจนคนร้ายนำทรัพย์สินนั้นไปขายได้ยาก ถ้ามีรอยสลักเครื่องหมาย

         3. เพื่อป้องกันโจรกรรมในเคหสถาน

(1) ตรวจสอบความแข็งแรงของกลอน ล็อกประตูหน้าต่างทุกบานทุกช่อง  กลอนธรรมดา  คนร้ายสามารถงัดออกได้ง่ายกว่ากุญแจที่มีกลอนล็อก 2 ชั้น

(2) กญแจให้เปลี่ยนทุกครั้งที่ย้ายบ้าน หรือเข้ามาอยู่ใหม่ หรือทุกครั้งที่กุญแจหาย

  • อย่าให้ลูกกุญแจสำรองกับผู้อื่น
  • อย่าเขียนข้อความติดกับลูกกุญแจที่แสดงว่าใช้กับประตูใด ให้จัดทำสมุดบันทึกส่วนตัวเพื่อบันทึกช่วยจำ

(3) เงินสด เครื่องประดับ ของมีค่าเก็บไว้ในที่ปลอดภัยและล็อกกุญแจให้เรียบร้อย

         4. แสดงสว่าง

(1) เปิดไฟไว้ภายนอกรอบ ๆ อาคาร โดยเฉพาะที่ใกล้ประตูหน้าต่างให้สว่างตลอดคืน แต่สวิตซ์ ปิด เปิด จะต้องอยู่ภายในบ้าน และไฟจะต้องอยู่สูงเกินกว่าคนร้ายจะปีนขึ้นไปถอดออกได้ จะป้องกันมิให้คนร้ายเข้างัดประตูปหน้าต่างได้สะดวก

(2) เปิดไฟภายในบ้านเป็นบางห้องเพื่อให้คนร้ายลังเล

        5. ในเวลากลางคืน ไม่ว่าท่านจะอยู่บ้านหรือไม่ก็ตาม ควรปิดม่านไว้ให้เรียบร้อย การเปิดม่านไว้จะทำให้คนร้ายล่วงรู้ได้ว่า ภายในบ้านมีคนอยู่หรือไม่ จำนวนเท่าใด มีทรัพย์สินมีค่าอยู่ที่ใด และง่ายต่อการเข้าโจรกรรม

        6. การปลูกต้นไม้ใหญไว้ใกล้ชิดหน้าต่างบ้านมาก คนร้ายอาจใช้เป็นที่ซ่อนตัวในขณะที่ลงมืองัดประตูหรือหน้าต่าง

        7. การแจ้งข่าวอาชญากรรม สามารถแจ้งโดยทางโทรศัพท์ ทางจดหมายไปยังสถานีตำรวจท้องที่ หรือไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือฝ่ายปกครองในท้องที่

(1) แจ้งข่าวก่อนเกิดเหตุ

  • เพื่อให้ทราบว่าใครมีพฤติการณ์เป็นคนร้าย ลักเล็กขโมยน้อย ลักโคกระบือ
  • ที่ใดเป็นที่ซ่องสุมหรือหลบซ่อนตัวของคนร้าย หรือแหล่งรับซื้อของโจร หรือแหล่งรับไถ่ถอนทรัพย์ที่หาย
  • ใครเป็นนักเลงอันธพาล ขี้ยา สูบฝิ่น สูบเฮโรอีน กัญชา สารระเหย
  • ที่ใดเป็นแหล่งค้ายาเสพติด
  • ใครเป็นมือปืนรับจ้าง
  • ใครเป็นคนแปลกหน้าที่มีพฤติการณ์น่าสงสัย
  • แหล่งล่อลวงหญิง

(2) แจ้งข่าวขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ

  • แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทันทีหากได้พบเห็นบุคคลซึ่งสงสัยว่าเป็นผู้กระทำผิดหรือพบความเคลื่อนไหวที่น่าสังสัย หรือพบยานพาหนะที่น่าสงสัยในบริเวณที่ชุมชนของท่าน และจดจำตำหนิรูปพรรณของคนที่ต้องสงสัยและพาหนะไว้ด้วย
  • ให้ข้อเท็จจริงกับตำรวจว่า ท่านได้พบเห็นเหตุการณ์อย่างไรขณะเกิดเหตุ (การจะโทรศัพท์แจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายหรือสถานีตำรวจอยู่ด้านหล้งคูมือนี้)

        8. การเป็นพยานในคดี ถ้าท่านได้พบเห็นเหตุการณ์ขณะก่อนเกิดเหตุ-ขณะเกิดเหตุ หลังเกิดเหตุ อย่างไร โปรดให้ความร่วมมือเป็นพยานให้ข้อเท็จจริงกับตำรวจเพื่อยืนยันผู้กระทำผิดและจับกุมตัวมาดำเนินคดีฟ้องให้ศาลลงโทษต่อไป ถ้าหากท่านรู้เห็น แต่ไม่ยอมเป็นพยานก็เสมือนเป็นการช่วยเหลือคนร้ายหรือผู้กระทำผิดให้รอดพ้นจากการจับกุมและรอดพ้นจากการถูกลงโทษ คนร้ายก็จะออกมากระทำผิดต่อไปอีกเรื่อย ๆ และอาจจะมากระทำต่อท่านในที่สุด และก็จะทำให้คนร้ายเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกินขีดความสามารถที่ตำรวจจะป้องกันดูแลได้อย่างทั่วถึง

        9. หากท่านประสบเหตุ จงพยายามจดจำและบันทึกตำหนิรูปพรรณของคนร้าย และยานพาหนะของคนร้าย ตลอดจนอาวุธที่คนร้ายใช้ (ตามคำแนะนำท้ายนี้)

      10. ตามหมู่บ้านจัดสรร หรือหมู่บ้านในชนบทควรมีการจัดเวรยามหมู่บ้าน จัดตั้งด่านตรวจทางเข้าหมู่บ้าน โดยประสานงานกับตำรวจท้องที่ ในการฝึกอบรมและการจัดระบบการป้องกันควรมีการจัดระบบเตือนภัย โดยใช้กริ่งสัญญาณติดบ้านใกล้เคียง หรือกำหนดสัญญาณตีเกราะระดมชาวบ้านช่วยเหลือกัน

      11. วัวควายตามหมู่บ้านในชนบท ควรจัดเป็นคอกรวมคอกและจัดเวรยามเฝ้าเพื่อป้องกันการถูกโจรกรรม

      12. ในหมู่บ้านจัดสรร ที่มีการก่อสร้างจะมีคนงานเข้าออก หน่วยรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านควรประสานเจ้าของหมู่บ้าน และผู้รับเหมา และตำรวจท้องที่ จัดทำบัตประวัติคนงานมีรูปถ่ายและพิมพ์มือตรวจสอบประวัติเก็บไว้เป็นหลักฐานเพราะบางคนเคยมีประวัติในทางโจรกรรม จะได้ป้องกันไว้ก่อน (ตามแบบฟอร์มท้ายนี้)

      13. เจ้าของบ้านควรจะได้มีการประสานกับหน่วยรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และตำรวจท้องที่ถ่ายรูปทำประวัติ พิมพ์มือคนใช้ คนสวน คนขับรถ เก็บไว้กับเจ้าของบ้าน เมื่อมีเหตุการณ์จะได้ติดตามได้โดยง่าย (ดังแบบฟอร์มท้ายนี้)

      14. ในกรณีที่เกิดอัคคีภัย โปรดแจ้ง ตำรวจดับเพลิง หรือเทศบาล สุขาภิบาล และตำรวจท้องที่โดยด่วน และปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัยในคู่มือนี้ และจะต้องมีการจัดเตรียมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยสำหรับสำนักงาน หมูบ้าน อาคารต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า และมีการซักซ้อมให้เกิดความพร้อมตลอดจนตรวจสอบเครื่องมือเครื่องใช้ในการดับเพลิงและแหล่งน้ำที่ใกล้เคียง และมีการจัดแบ่งหน้าที่ไว้เป็นฝ่าย ๆ คือ

  • ฝ่ายดับไฟและจัดหาน้ำดับไฟ
  • ฝ่ายอพยพทรัพย์สิน
  • ฝ่ายช่วยเหลือ คนชรา เด็ก คนป่วย
  • ฝ่ายดูแลทรัพย์สินป้องกันถูกโจรกรรม
  • ฝ่ายนำคนเจ็บส่งสถานพยาบาล

     15. ในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุรถชนกันมีคนบาดเจ็บ หรือผ่านไปประสบเหตุ

(1) รีบแจ้งเหตุให้ตำรวจท้องที่หรือตำรวจท้องที่ใกล้เคียงที่สุดให้ทราบเหตุ
(2) ช่วยดูแลทรัพย์สินของผู้ประสบเหตุ
(3) ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ให้ถูกต้องตามวิธีปฐมพยาบาล โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเป็นอันขาด จนกว่าจะแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่มีกระดูกหัก
  • ถ้ามีอาการเลือดออกต้องห้ามเลือดก่อน
  • ถ้าหยุดหายใจต้องทำการผายปอด
  • ในกรณีคนไข้ยังไม่รู้สึกตัว ห้ามไม่ให้คนไข้ดื่มน้ำ หรือยาใด ๆ เป็นอันขาด
  • พยายรมให้ผู้ป่วยนอนศีรษะราบ ตะแคงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง เงยคางไว้ ถ้ามีอาเจียนเต็มปากต้องควักออกให้หมด
  • ผู้ทำการปฐมพยาบาลต้องรอบรู้ และมีความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาล มีสติ รู้จักดัดแปลงของใช้ เช่น ไม้กระดาน ผู้เช็ดหน้า ผู้ปูโต๊ะ เศษผ้า เชือก เศษไม้ นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์
  • ส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไปจากโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

หมายเหตุ การปฐมพยาบาลที่ผิดวิธี โดยเฉพาะในรายที่กระดูกคอหัก กระดูกสันหลังหัก อาจทำให้คนไข้พิการตลอดชีวิต (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลท้ายนี้)

      16. การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมคนร้าย ประชาชนธรรมดาสามารถช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมคนร้ายได้ (โปรดดูรายละเอียดในเรื่อง "ประชาชนธรรมดาจะจับกุมผู้กระทำผิดได้หรือไม่" ท้ายเรื่องนี้)

      17. การรักษาที่เกิดเหตุและของกลางในคดี เมื่อเกิดเหตุคดีอาชญากรรม คนร้ายจะทิ้งร่องรอยหลักฐานไว้ในที่เกิดเหตุ ให้ช่วยกันรักษาสถานที่เกิดเหตุไว้ให้อยู่ในสภาพเดิม อย่าเคลื่อนย้ายทรัพย์สินใดๆ แล้วรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเดินทางมาตรวจที่เกิดเหตุโดยด่วน

  • ในกรณีของกลางบางอย่างอาจจะสูญหาย เพราะไม่มีผู้ใดเฝ้าดูแล เช่น อาวุธปืนของคนร้าย มีดที่คนร้ายใช้ทำร้ายตกในที่เกิดเหตุ ผู้พบเห็นอาจเก็บและนำส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ก่อน

 

บัตรประวัติบุคคล คนใช้, คนสวน, คนขับรถ, คนเลี้ยงเด็ก


บันทึกรายการทรัพย์สินภายในบ้าน

 

ที่มา   http://www.nakhonsipolice.go.th/aomdata/rtenasonjai.htm