Home » บทความทั่วไป ความรู้น้ำท่วม » การตรวจสอบปัญหาบ้าน หลังน้ำลด

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
การตรวจสอบปัญหาบ้าน หลังน้ำลด

dailynews.co.th  วันเสาร์ ที่ 30 ตุลาคม 2553  

แม้ว่าน้ำจะเริ่มลดลงบ้างแล้ว แต่ความทุกข์ของผู้ประสบภัยก็ไม่ได้ลดน้อยลง   

ปัญหาที่ตามมาหลังจากน้ำลด อย่างแรกที่ทุกคนนึกถึงก็คือเรื่องของการซ่อมแซมบ้านเพื่อให้กลับเข้าไปอยู่อาศัยได้ใหม่

อ.ธเนศ วีระศิริ ภาควิชาเทคโนโลยีชนบท คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ก่อนจะคิดถึงเรื่องซ่อมแซมบ้าน ควรให้วิศวกรเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างของตัวบ้านก่อนว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ อาคารบ้านเรือนที่จมน้ำอยู่เป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดการเปื่อยยุ่ย ที่ต้องระวังมากที่สุดคือบ้านที่ตั้งอยู่ริมน้ำ อาจเกิดการทรุดตัวไหลลงไปตามน้ำได้”
    
อันดับแรกที่ต้องทำคือต้อง
ตรวจดูสภาพรอบบ้าน โดยเฉพาะบ้านริมแม่น้ำ ริมคลอง ดินรอบบ้านอาจมีอาการอ่อนตัว ไหลไปตามแม่น้ำลำคลองได้ บ้านที่สร้างอยู่ชิดริมน้ำ จะมีโอกาสสูงที่จะเลื่อนไหลลงไปในน้ำ หรืออาจเกิดปัญหาบ้านเอียงได้
    
ข้อสังเกต ให้ตรวจดูว่ามีรอยแตกบนพื้นดินขนานไปกับลำคลองหรือถนนหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าดินกำลังแยกตัวไหลลงไปในน้ำ
    
การตรวจสอบตัวบ้านก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการตรวจดูสภาพรอบบ้าน สำหรับบ้านที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ให้ตรวจดูดินที่รองรับตัวบ้านว่ามีการยุบตัวหรือไม่ หากดินมีการยุบตัวอาจทำให้ฐานรากขยับตัวได้ นอกจากนี้การที่ดินยุบตัวอาจทำให้พื้นคอนกรีตชั้นล่างเกิดอาการแอ่นตัวขึ้นได้
    
หากพบว่า
เสาบ้านมีรอยแตกขนานกับเสา ให้เร่งทำการแก้ไข เพราะการที่เสาบ้านถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน อาจทำให้เหล็กเป็นสนิม ดันให้คอนกรีตแตกหลุดออกมาได้ ซึ่งจะทำให้ เสาไม่สามารถรับน้ำหนักได้ แม้จะไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาในทันที แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้อยู่อาศัยได้
    
สำหรับ
คานรับพื้นชั้นบน หากพบรอยแตกตามแนวนอน ให้รีบแก้ไขด่วนเช่นกัน เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาเดียวกับรอยแตกที่ขนานกับเสา
    
พื้นคอนกรีตชั้น 2 ถ้ามีความชื้นใต้พื้น จะเกิดรอยแตกเป็นเส้น ต้องรีบทำการค้ำยันไม่ให้พื้นทรุดตัวลงมา ก่อนเร่งรีบทำการแก้ไข ส่วนเสาชั้นบน ถ้าน้ำท่วมถึง ให้ทำการสำรวจเช่นเดียวกับเสาชั้นล่าง 
    
กรณีบ้านไม้ มักพบปัญหาไม้ผุกร่อนตามตำแหน่งรอยต่อ เสากับคาน หรือคานกับพื้น เนื่องจากมีความชื้นสลับกับแห้ง ทำให้ไม้มีโอกาสแตกร่อนได้สูง
    
ระบบไฟฟ้าและประปาก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนเริ่มใช้งาน
    
สำหรับระบบไฟฟ้า ให้ตรวจสอบทุกจุดที่ถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะจุดที่มีการต่อสายลงดิน เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร โอกาสที่จะต้องซ่อมแซมมีอยู่สูง ยิ่งส่วนที่โดนน้ำท่วม อาจต้องทำการเปลี่ยนใหม่หมด เพื่อความปลอดภัย
    
ระบบประปา มักเกิดปัญหาการอุดตัน ต้องมีการชักรอกเพื่อระบายไม่ให้น้ำอุดตัน สำหรับท่อระบายริมคลองอาจเกิดการขยับตัว มีรอยแตก ควรตรวจเช็กแนวท่อระบายทั้งหมด
    
การแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างอาคาร ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ควรปรึกษาวิศวกร พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปใช้งานในบริเวณที่มีรอยร้าวจนกว่าจะได้รับการแก้ไขให้เสร็จเรียบร้อยก่อน
    
วัสดุปิดผิวภายนอก ไม่ว่าจะเป็นพื้น ผนัง ประตู หน้าต่าง หากเกิดการชำรุด เสียหาย จากการที่ถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เราสามารถรื้อ ถอด เปลี่ยนได้ง่าย แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของโครงสร้าง หลักการตรวจสอบข้างต้น เจ้าของบ้านสามารถนำไปใช้ตรวจสอบเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ แต่ถ้าพบสิ่งผิดปกติควรให้วิศวกรเข้ามาตรวจสอบ และเร่งทำการแก้ไข เพื่อความปลอดภัย 
   
เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้จัดทำโครงการ “
วิศวกรอาสา” ขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านวิศวกรรมหลังจากน้ำลด 
    
สำหรับวิศวกรผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ หรือผู้ประสบภัยที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านวิศวกรรม สามารถติดต่อขอความร่วมมือ หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 0-2319-2410