Home » บทความทั่วไป ความรู้น้ำท่วม » เทคนิค ขับรถลุยน้ำ และการเตรียมพร้อม

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
เทคนิค ขับรถลุยน้ำ และการเตรียมพร้อม

ขับรถลุยน้ำ ทำอย่างไรให้ไปรอด

          สถานการณ์น้ำท่วมขังเนื่องจากฝนตกในเขตกรุงเทพฯ ยากที่จะหลีกเลี่ยงหากปริมาณน้ำฝนเกิน 60 มิลลิเมตร ลองอ่านวิธีการขับขี่ฝ่าน้ำท่วมขังผิวการจราจร เพื่อเอาตัวรอดไปให้ถึงที่หมาย...

 

  • ต้องรู้ระดับน้ำข้างหน้าที่จะวิ่งลุยเข้าไปว่ามีความสูงเพียงใด รถเก๋งส่วนใหญ่ที่อยู่ในสภาพดี (ไม่นับรวมรถกระบะยกสูง) สามารถแล่นฝ่าผิวการจราจรที่มีน้ำท่วมขังอยู่ในระดับ 30 เซนติเมตรแบบพอคลานไปได้ช้าๆ หากมากกว่านั้น น้ำอาจเข้าไปที่จานจ่าย คอยจุดระเบิด หรือท่อระบายไอเสียด้านหลังจนทำให้เครื่องยนต์ดับได้ ควรลดความเร็วลงเมื่อกำลังจะขับรถสวนกับอีกคันที่กำลังขับมา เพราะคลื่นด้านหน้าของรถที่แล่นสวนทางมากับคลื่นรถของเราจะปะทะกัน ซึ่งน้ำที่ปะทะระหว่างรถทั้งสองคันที่วิ่งสวนกันอาจทำให้น้ำกระเด็นไปทำ อันตรายต่ออุปกรณ์ภายในห้องเครื่องยนต์
     
  • ควรใช้เกียร์ต่ำ สำหรับเกียร์ธรรมดาให้ใช้อัตราทดเกียร์ในระหว่างการวิ่งฝ่าพื้นที่น้ำท่วมขังที่ประมาณเกียร์ 2 หรือสำหรับออโต้ ก็ใช้เกียร์ D1-D2 รวมถึงการขับขี่ที่ต้องใช้ความเร็วต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และควรรักษาระดับความเร็วของตัวรถให้มีความสม่ำเสมอ อย่าหยุดรถกลางน้ำ ห้ามเร่งความเร็วแบบทันทีทันใด น้ำอาจโดนพัดลมระบายความร้อนตีขึ้นมาใส่อุปกรณ์ที่มีไฟฟ้าผ่านจนถึงขั้นเครื่องยนต์ดับเอาได้ง่ายๆ
     
  • ไม่ควรเร่งรอบเครื่องหรือ ใช้รอบสูง ระดับน้ำท่วมที่สูงอาจทำให้ผู้ขับขี่บางรายเป็นกังวลและมักจะเร่ง เครื่องยนต์ทันทีที่แล่นฝ่าน้ำ ซึ่งอาจเป็นเพราะกลัวเครื่องยนต์ดับกลางทาง กลัวน้ำเข้าท่อระบายไอเสียทางด้านหลัง หรือต้องการไปให้พ้นจากเขตที่มีน้ำท่วมขังผิวการจราจรด้วยความรวดเร็ว แท้ที่จริงแล้วการเร่งเครื่องยิ่งทำให้เครื่องยนต์ต้องทำงานหนักขึ้นและตามมาด้วยความร้อนที่จะเพิ่มสูงขึ้นในห้องเครื่อง เมื่อเครื่องมีความร้อนสูง ใบพัดระบายความร้อนหรือพวกพัดลมไฟฟ้าก็จะทำงาน สิ่งที่จะตามมาเมื่อระดับน้ำมีความสูงมากถึง 20-30 เซนติเมตรมันจะโดนพัดลมไฟฟ้าปั่นเข้าสู่ฝาสูบ จานจ่าย คอยจุดระเบิด มอเตอร์สตาร์ต ไดชาร์จ หม้อกรองอากาศจนถึงขั้นเครื่องยนต์ดับได้เลยทีเดียว
     
  • ปิดระบบปรับอากาศภายในห้องโดยสารทั้งหมดแล้วเปิดกระจกทุกบาน การขับรถลุยน้ำท่วมขังแล้วเปิดเครื่องปรับอากาศอาจทำให้เครื่องยนต์ดับ จากสาเหตุของพัดลมไฟฟ้าซึ่งจะทำงานทันทีที่เซนเซอร์คอมแอร์ทำงานแล้ววิดเอาน้ำท่วมขังเข้ามาในห้องเครื่องยนต์ หากเครื่องไม่ดับ ใบพัดของพัดลมไฟฟ้าที่ยังคงหมุนทำงานด้วยรอบความเร็วอาจฟันเข้าไปกับเศษขยะ กิ่งไม้ เศษแผ่นไม้ ถุงพลาสติก ฯลฯ ที่ลอยตามน้ำมา วัตถุเหล่านี้มีโอกาสที่จะเข้ามาในห้องเครื่องแล้วโดนใบพัดตัดฟันจนใบพัด ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากพลาสติกหัก หากใบพัดในระบบระบายความร้อนแตกหักเสียหาย สิ่งที่ตามมาคือปัญหาในเรื่องความร้อนของเครื่องยนต์ที่จะพุ่งสูงขึ้นทันที จนไม่สามารถขับขี่ต่อไปได้
     
  • กระจกที่เปิดออกทุกบาน อาจช่วยคุณ ในกรณีที่อาจมีมวลน้ำขนาดใหญ่ไหลเข้ามาแบบกะทันหันทันทีทันใดในกรณี ที่ขับเข้าไปยังพื้นที่ที่มีน้ำท่วมสูงและกระแสน้ำไหลเชี่ยว จนอาจพัดเอารถยนต์ตกข้างทางหรือไหลไปกับกระแสน้ำ ซึ่งกรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำเมื่อเกิดเหตุการน้ำป่าไหลหลาก เขื่อนหรือทำนบกั้นน้ำแตกแล้วน้ำปริมาณมหาศาลไหลตัดขวางถนน กระจกที่เปิดออกจะช่วยให้คุณสามารถหนีออกจากตัวรถได้โดยไม่จมไปพร้อมกันกับพาหนะที่ขับขี่หรือโดยสารมา
     
  • พกพาสเปรย์ไล่ความชื้น ไฟฉาย สายลากรถแบบผ้าใบที่แข็งแรง น้ำจืด โทรศัพท์มือถือ วิทยุติดต่อ ถุงกันน้ำ อาหารแห้ง เข็มทิศ ถังเชื้อเพลิงสำรอง นกหวีด ไฟแช็กหรือเสื้อชูชีพ พลุสัญญาณ แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือสำรอง ร่ม เสื้อกันฝน รองเท้ายางกันน้ำแบบบู๊ต หากต้องขับลุยฝ่าน้ำท่วมในพื้นที่ปิด เช่น พื้นที่ประสบภับพิบัติน้ำท่วม พื้นที่ป่าเขาที่กำลังเกิดสภาวะฝนตกหนัก
     
  • ท่อไอเสียของเครื่องยนต์แบบดีเซลจมน้ำอาจไม่เป็นไร แต่ท่อไอเสียของเครื่องเบนซินท่อต้องพ้นน้ำอยู่เสมอเนื่องจากแรงดันปลายท่อ จะน้อยกว่าเครื่องยนต์ดีเซล เมื่อแรงดันไม่พอน้ำอาจเข้าไปที่ปลายท่อไอเสียต่อหรือยกท่อไอดีด้านหน้าและ ท่อระบายไอเสียด้านหลังสำหรับรถปิกอัพยกสูงที่ต้องวิ่งลุยน้ำท่วมในระดับสูง เกิน 1 เมตร สำหรับรถยนต์บางคัน เฟืองท้ายจะมีรูระบายอากาศต้องต่อท่อยางให้พ้นน้ำ.

โดย อาคม รวมสุวรรณ
ที่มา
ไทยรัฐออนไลน์  15 ตุลาคม 2554