Home » ตัวอย่างคู่มือ,เอกสาร,แบบฟอร์ม » กฎระเบียบและข้อปฏิบัติของหมู่บ้าน .. ตัวอย่าง

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
กฎระเบียบและข้อปฏิบัติของหมู่บ้าน .. ตัวอย่าง

 

ตั ว อ ย่ า ง

ที่มา   http://neoclassichome.igetweb.com

 

กฎระเบียบและข้อปฏิบัติของหมู่บ้าน (นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร)

    กฎระเบียบของหมู่บ้าน

1. ผู้ใดเสพ หรือ จำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ตามที่กฎหมายกำหนด จะถูกปรับเป็นเงินเข้างบส่วนกลางของหมู่บ้าน 3,000 บาท
2. ทะเลาะวิวาทภายในบริเวณที่สาธารณะของหมู่บ้าน โดยเป็นผู้ก่อเหตุ จะถูกปรับเป็นเงิน 3,000 บาท
3. ทิ้งสิ่งปฏิกูล ได้แก่ รถสูบส้วมทำสื่งปฏิกูลตกหล่น , ขยะทั่วไปและขยะที่ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษ ในที่สาธารณะหรือในพื้นที่ส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาตจะถูกปรับเป็นเงินเข้าหมู่บ้าน 1,000 บาทต่อครั้ง

4. ให้ทิ้งขยะลงถงขยะหรือภาชนะที่นิติบุคคลฯจัดไว้  ห้ามวางถุงขยะไว้ที่พื้น ยกเว้นถังขยะเต็ม  ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับครั้งละ 100 บาท
5.หากสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นใดของสมาชิกออกมาถ่ายอุจจาระในสวนสาธารณะ ถนน ทางเท้าหรือบริเวณบ้านสมาชิกท่านอื่น ผู้ดูแลสัตว์เลี้ยงจะต้องจัดการเก็บกวาด ให้เรียบร้อยทันที หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องถูกปรับเป็นเงินครั้งละ 500 บาท
6. ห้ามตัดต้นไม้ หรือเด็ดดอกไม้บนต้น ในเขตพื้นที่สาธารณะภายในหมู่บ้าน ยกเว้นผู้ที่มีหน้าที่โดยเฉพาะหรือมีความจำเป็นด้วยเหตุอันควร หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกปรับ ต้นไม้ต้นละ 500 บาท ดอกไม้ดอกละ 100 บาท
7. ยิงปืนในหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต จะถูกปรับครั้งละ 500 บาท
8. ห้ามติดสติ๊กเกอร์หรือติดตั้งป้ายโฆษณาใดๆ ที่ประตูทางเข้าหมู่บ้าน รั้วหมู่บ้าน  ต้นไม้ ตู้โทรศัพท์ เสาไฟฟ้า และทรัพย์สินส่วนกลางอื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต หากผู้ใดฝ่าฝืน  จะถูกปรับครั้งละ 500 บาท

9. ผู้ใดกระทำผิดกฎจราจร หรือฝ่าฝืนป้ายจราจรภายในบริเวณหมู่บ้าน มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
10. ผู้ที่กระทำผิดแล้วไม่แก้ไขทางหมู่บ้าน จะทำการตักเตือนก่อน และหากสมาชิกยังเพิกเฉย จะทำการคว่ำบาตรไม่คบค้าสมาคม และหากทำผิดเกิน 3 ครั้ง ทางหมู่บ้านอาจจะตัดสิทธิประโยชน์ในหมู่บ้าน และอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามสมควร    

ข้อควรปฏิบัติในชุมชน

1. งดเว้นเล่นการพนันภายในหมู่บ้าน
2. การปลูกต้นไม้ในสวนสาธารณะและพื้นที่สาธารณะภายในหมู่บ้าน จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการหมู่บ้าน
3. ไม่ควรเลี้ยงเป็ด ไก่และสุกรในหมู่บ้าน และงดเว้นการกระทำที่ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษในหมู่บ้าน
4. สมาชิกและบริวารหรือบุคลคลภายนอกที่เข้ามาในชุมชน จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของหมู่บ้านอย่างเคร่งครัด ควรกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อหมู่บ้านและชุมชนโดยรวม งดเว้นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายในหมู่บ้าน และงดเว้นการกระทำที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีของคนในชุมชน

              การร้องเรียน

              1. ให้สมาชิกหมูบ้านที่มีเรื่องจะร้องเรียนกับนิติบุคคลหมู่บ้าน นำส่งจดหมายร้องเรียนได้ที่ ตู้รับเรื่องร้องเรียน ณ สำนักงานนิติบุคคลหมู่บ้าน
2. ผู้จัดการนิติบุคคลจะนำเรื่องที่ร้องเรียนเข้าหารือกับประธานกรรมการนิติบุคคลหรือคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้าน เพื่อหาหนทางแก้ไข/ปรับปรุง และอาจนำเรื่องที่ร้องเรียนนั้นเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลฯ หรือที่ประชุมใหญ่สมาชิกหมู่บ้าน แล้วแต่กรณี และจะนำผลการพิจารณาไปแจ้งให้กับผู้ร้องเรียนได้รับทราบภายใน 2 วันทำการ หลังจากวันที่มีนมติในที่ประชุม            

             ข้อตกลงร่วม

             1. สมาชิกหมู่บ้านยินดีให้คณะกรรมการนิติบุคคลฯ ใช้วิธีการทางสถิติมาประกอบการวินิจฉัย ปรับเพิ่มเงินค่าบำรุงสาธารณูปโภคส่วนกลางเป็นการเฉพาะราย หากสมาชิกหมู่บ้านท่านนั้นใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนกลางและบริการสาธารณะมากจนเกิดข้อสังเกตุ หรือมีการร้องเรียนจากสมาชิกท่านอื่นๆ หรือเกิดข้อร้องเรียน/ข้อพิพาทระหว่างสมาชิกด้วยกัน

หมายเหตุ : ระเบียบและข้อปฏิบัติต่างๆได้ถูกกำหนดขึ้น เพื่อความสงบสุขโดยส่วนรวมของพวกเราชาว Neo Classic Home ทุกคน จึงใคร่ขอความร่วมมือมายังสมาชิกหมู่บ้านทุกท่าน ช่วยปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้โดยเคร่งครัด และกรุณาช่วยกันคอยดูแลมิให้ผู้ใดกระทำการอันขัดกับระเบียบนี้ ซึ่งอาจกระทำการไปโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม หากพบเห็นกรุณาแจ้ง ผู้จัดการหมู่บ้านหรือประธานหมู่บ้านโดยตรง

 

 

ข้อปฏิบัติในการเข้า-ออกหมู่บ้านของบุคคล และยานพาหนะ

                เนื่องจากหมู่บ้านนีโอ คลาสสิคโฮม รามอินทรา มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ สมาชิกหมู่บ้านมีการผสมผสานระหว่าง ผู้อยู่อาศัยอย่างเดียว , Officeสำนักงาน , ผู้เช่าช่วง  และผู้มาติดต่อ  ดังนั้น เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยในตัวบุคคลและทรัพย์สิน   จึงแบ่งหลักการปฏิบัติออกเป็นกลุ่มๆ ดังนี้

1. สมาชิกหมู่บ้านและบริวาร

กรณีใช้ยานพาหนะ : ให้ติดสติ๊กเกอร์ที่ทางนิติบุคคลหมู่บ้านแจกให้บนกระจกด้านหน้ารถยนต์/รถจักรยานยนต์ ณ ตำแหน่งที่ รปภ. มองเห็นได้ชัดเจนโดยจะต้องเขียนเลขที่บ้านไว้ในแถบสีขาวบนสติ๊กเกอร์ให้เห็นเด่นชัด

หมายเหตุ :  สมาชิกหมู่บ้านกรุณาติดต่อสำนักงานนิติบุคคลฯ เพื่อแจ้งเลขทะเบียนรถยนต์ที่ติดสติ๊กเกอร์ทั้ง2 คัน และเขียนเลขที่บ้านไว้บนตัวสติ๊กเกอร์ด้วย เพื่อป้องกันการแอบอ้างและทำสติ๊กเกอร์ปลอม

กรณีเดินเท้า : ให้ รปภ. จดจำสมาชิกและบริวารที่ผ่านเข้า-ออกเป็นประจำให้ได้ โดยอนุญาตให้ผ่านเข้า-ออกหมู่บ้านได้โดยไม่ต้องแสดงเอกสารใดๆ กรณีไม่แน่ใจว่าใช่สมาชิกหมู่บ้านหรือบริวารหรือไม่ พนักงานรักษาความปลอดภัยสามารถเข้าไปสอบถามได้

2. พนักงานบริษัทที่มีสำนักงานตั้งอยู่ภายในหมู่บ้าน/ผู้เช่าบ้าน/บุคคลภายนอกที่ผ่านเข้า-ออกเป็นประจำ

กรณีใช้ยานพาหนะ : ให้ติดสติ๊กเกอร์ที่ทางนิติบุคคลฯ จัดให้บนกระจกด้านหน้ารถยนต์/รถจักรยานยนต์ ณ ตำแหน่งที่ รปภ. มองเห็นได้ชัดเจน โดยสติ๊กเกอร์ดังกล่าวสามารถหาซื้อได้ที่สำนักงานนิติบุคคลฯ ซึ่งจะมีอายุใช้งานเพียง 1 ปี (1 ม.ค.-31 ธ.ค.) เท่านั้น หากท่านใดประสงค์จะต่ออายุจะต้องซื้อสติ๊กเกอร์อันใหม่ ซึ่งจะต่างสีกันไปในแต่ละปี

กรณีเดินเท้า : ให้ รปภ. จดจำพนักงานบริษัทที่ผ่านเข้า-ออกเป็นประจำให้ได้ โดยอนุญาตให้ผ่านเข้า-ออกหมู่บ้านโดยไม่ต้องแลกบัตรประจำตัวใดๆ กรณีไม่แน่ใจว่าใช่พนักงานของบริษัทในหมู่บ้าน/ผู้เช่าบ้านหรือไม่ พนักงานรักษาความปลอดภัยสามารถเข้าไปสอบถามได้

3. บุคคลภายนอก / ผู้มาติดต่อสมาชิกหมู่บ้าน

กรณีใช้ยานพาหนะ : ให้ผู้ขับขี่รับบัตรผ่านเข้า-ออกหมู่บ้าน โดยต้องแลกบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบขับขี่ไว้ที่ป้อมยาม จากนั้นผู้มาติดต่อจะต้องนำบัตรผ่านเข้า-ออกดังกล่าวไปให้เจ้าของบ้านหรือบริวารของสมาชิกหมู่บ้านที่จะมาติดต่อนั้นประทับตรายางและเซ็นต์ชื่อบนบัตรให้ เมื่อเสร็จธุระแล้วให้ส่งบัตรผ่านเข้า-ออกนั้นคืนให้กับ รปภ. เมื่อจะออกจากหมู่บ้าน กรณีที่มาแล้วไม่พบเจ้าของบ้าน ให้ผู้มาติดต่อมาประทับตรายางที่สำนักงานนิติบุคคลหมู่บ้าน และให้ รปภ. ตรวจสอบท้ายรถยนต์ทุกคันก่อนให้ออกจากหมู่บ้าน (รปภ.ต้องบันทึกเวลาเข้า-ออกในบัตรด้วยทุกครั้ง) 

กรณีเดินเท้า : ให้บุคคลภายนอก/ผู้มาติต่อรับบัตรผ่านเข้าออกชนิด "ผู้มาติดต่อ" (VISITOR) ซึ่งมีลักษณะเป็นบัตรติดหน้าอก ที่ทางนิติบุคคลฯเป็นผู้จัดทำขึ้นกับ รปภ. ที่ป้อมยาม โดยต้องแลกบัตรประจำตัวที่ทางราชการออกให้ ซึ่ง รปภ จะจดชื่อและบันทึกเวลาเข้าในสมุดควบคุมการเข้า-ออกหมู่บ้าน และให้นำบัตรติดหน้าอกนั้นมาส่งคืนกับ รปภ. เมื่อจะออกจากหมู่บ้านด้วย พร้อมทั้งรับคืนบัตรประจำตัวกลับไป โดย รปภ. จะลงบันทึกเวลาออกด้วยทุกครั้ง  (บัตรVISITOR ไม่จำเป็นต้องนำไปติดที่หน้าอกก็ได้ให้เก็บไว้กับตัว)

4. TAXI /มอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ให้ผู้ขับขี่ TAXI และมอเตอร์ไซค์วิน รับบัตรผ่านเข้า-ออกหมู่บ้านชนิด "ผู้มาติดต่อ"  (VISITOR) ซึ่งมีลักษณะเป็นบัตรติดหน้าอก ที่ทางนิติบุคคลฯเป็นผู้จัดทำขึ้นกับ รปภ. ที่ป้อมยาม โดยต้องแลกบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบขับขี่ไว้ เมื่อส่งผู้โดยสารเสร็จแล้วก็ให้ส่งบัตรนั้นคืนให้กับ รปภ.พร้อมรับบัตรประจำตัวคืน เมื่อจะออกจากหมู่บ้าน (รปภ.ต้องบันทึกเวลาเข้า-ออกในสมุดลงเวลาด้วยทุกครั้ง)

5. มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารจานด่วน (Delivery)

ให้ผู้ขับขี่รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารจานด่วน รับบัตรผ่านเข้า-ออกหมู่บ้านชนิด "ผู้มาติดต่อ"  (VISITOR) กับ รปภ. ที่ป้อมยาม ซึ่งเป็นบัตรติดหน้าอกที่ทางนิติบุคคลฯเป็นผู้จัดทำขึ้น โดยไม่ต้องแลกบัตรประจำตัวใดๆ และเมื่อส่งอาหารเสร็จแล้วก็ให้ส่งบัตรนั้นคืนให้กับ รปภ. เมื่อจะออกจากหมู่บ้าน (รปภ.ต้องบันทึกเวลาเข้า-ออกในสมุดควบคุมการเข้า-ออกด้วยทุกครั้ง)

6. เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ เช่น รถเก็บขยะ, การไฟฟ้า, การประปา,โทรศัพท์ฯลฯ ซึ่งปฏิบัติงานตามหน้าที่  

ให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ  (ต้องแสดงบัตรราชการหรือขับขี่ยานพาหนะที่เชื่อได้ว่าเป็นของทางราชการ) ผ่านเข้า-ออกหมู่บ้านโดยไม่ต้องแลกบัตรประจำตัวใดๆ และไม่ต้องรับบัตรผ่านเข้า-ออก  (รปภ.ต้องบันทึกเวลาเข้า-ออก โดยระบุหน่วยงาน,ประเภทของรถ และเลขทะเบียนรถด้วยทุกครั้ง)

7. เจ้าหน้าที่ตำรวจ (ในเครื่องแบบ) ซึ่งปฏิบัติงานตามหน้าที่

ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ หรือครึ่งท่อน (กรณีใส่ครึ่งท่อนต้องแสดงบัตรราชการหรือขับขี่ยานพาหนะที่เชื่อได้ว่าเป็นของทางราชการ) ผ่านเข้า-ออกหมู่บ้านโดยไม่ต้องแลกบัตรประจำตัวใดๆ และไม่ต้องรับบัตรผ่านเข้า-ออก  (รปภ.ต้องบันทึกเวลาเข้า-ออก โดยระบุหน่วยงาน,ประเภทของรถ และเลขทะเบียนรถด้วยทุกครั้ง)

8. ผู้รับเหมา/ช่างก่อสร้าง-ต่อเติม-ตกแต่ง/ผู้รับจ้างทำความสะอาดบ้าน

กรณีใช้ยานพาหนะ : ให้ผู้ขับขี่รับบัตรผ่านเข้า-ออกหมู่บ้าน โดยต้องแลกบัตรประจำตัวที่ออกโดยราชการหรือใบขับขี่  บัตรดังกล่าวจะต้องให้เจ้าของบ้านหรือบริวารของเจ้าของบ้านที่จะมาติดต่อประทับตราและเซ็นต์ชื่อบนบัตรให้ เมื่อเสร็จธุระแล้วให้ส่งบัตรผ่านเข้า-ออกนั้นคืนให้กับ รปภ. เมื่อจะออกจากหมู่บ้าน กรณีที่ไม่พบเจ้าของบ้านหมู่บ้าน ให้มาติดต่อประทับตรายางที่สำนักงานนิติบุคคลหมู่บ้าน และให้ รปภ. ตรวจสอบท้ายรถยนต์ทุกคันก่อนให้ออกจากหมู่บ้าน(รปภ.ต้องบันทึกเวลาเข้า-ออกในบัตรด้วยทุกครั้ง) 

กรณีเดินเท้า : ให้ผู้รับเหมา/ช่าง รับบัตรผ่านเข้า-ออกชนิด "ผู้มาติดต่อ" (VISITOR) ซึ่งมีลักษณะเป็นบัตรติดหน้าอก ที่ทางนิติบุคคลหมู่บ้านเป็นผู้จัดทำขึ้นกับ รปภ. ที่ป้อมยาม โดยต้องแลกบัตรประจำตัวที่ออกโดยราชการ ซึ่ง รปภ จะจดชื่อและบันทึกเวลาเข้าในสมุดควบคุมการเข้า-ออกหมู่บ้าน และให้ผู้รับเหมา/ช่างท่านนั้นนำบัตรมาส่งคืนกับ รปภ. เมื่อจะออกจากหมู่บ้านด้วย เพื่อ รปภ. จะลงบันทึกเวลาออกและคืนบัตรประจำตัวให้

ข้อบังคับการจราจรและการจอดยานพาหนะภายในหมู่บ้าน

1. ไม่ขับรถเร็วเกิน 30 กม./ชั่วโมง ภายในหมู่บ้าน เนื่องจากก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
2. ให้เดินรถทางเดียวรอบสวนสาธารณะของหมู่บ้าน ในลักษณะวงเวียน (เวียนขวา)

3. สมาชิกหมู่บ้านมีสิทธิจอดรถยนต์ภายในหมู่บ้าน (ภายในรั้วบ้านหรือริมถนน) โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้จำนวน 2 คัน ซึ่งจะต้องแจ้งทะเบียนรถและรายละเอียดของรถให้นิติบุคคลหมู่บ้านทราบ เพื่อรับสติ๊กเกอร์ติดกระจกหน้ารถชนิดตลอดชีพ ที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดทำขึ้น

4. รถยนต์ของพนักงานบริษัท/บริวารของสมาชิกหมู่บ้านตั้งแต่คันที่ 3 เป็นต้นไป ที่ประสงค์จะจอดรถเป็นประจำภายในหมู่บ้านจะต้องชำระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเป็นรายปี ตามอัตราที่นิติบุคคลหมู่บ้านกำหนด และรับสติกเกอร์ชนิดรายปี  ที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดทำขึ้นสำหรับติดที่กระจกหน้ารถ

5. ให้สมาชิกหมู่บ้านและบุคคลทั่วไปจอดยานพาหนะในที่ที่นิติบุคคลฯกำหนด และห้ามไม่ให้บุคคลใดจอดยานพาหนะกีดขวางทางเข้า-ออกหน้าบ้านของสมาชิกหมู่บ้านท่านอื่น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสมาชิกหมู่บ้านหรือบริวารของสมาชิกท่านนั้นก่อน  หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน200 บาท
6. ห้ามไม่ให้บุคคลใดหยุดหรือจอดรถบริเวณถนนปากทางเข้า-ออกหมู่บ้าน หรือจอดรถในลักษณะกีดขวางการจราจร ทำให้ผู้ใช้ถนนท่านอื่นไม่ได้รับความสะดวกในการเข้า-ออกหมู่บ้าน หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษไม่เกิน 200 บาท

7. สมาชิกหมู่บ้านทุกท่านมีสิทธิจอดยานพาหนะบริเวณช่องว่างระหว่างตัวอาคารของหมู่บ้านได้อย่างเสมอภาคกัน บุคคลใดก็ตามไม่สามารถอ้างสิทธิในการจอดยานพาหนะเป็นประจำหรือวางสิ่งกีดขวางไม่ให้ผู้อื่นเข้าใช้พื้นที่ได้  หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 200 บาทต่อครั้ง   หากสมาชิกหมู่บ้านท่านใดมีความประสงค์จะจอดยานพาหนะบริเวณช่องระหว่างอาคารเป็นประจำให้ติดต่อนิติบุคคลฯ เพื่อพิจารณาเป็นรายๆไป โดยท่านต้องชำระเงินค่าบำรุงสาธารณูปโภคส่วนกลางเพิ่มเติมตามอัตราที่ทางนิติบุคคลหมู่บ้านกำหนด

8. สมาชิกหมู่บ้านที่ชำระเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางล่าช้าและ/หรือค้างชำระเงินค่าใช้จ่ายบำรุงสาธารณูปโภคเกิน 3 เดือนขึ้นไป  นิติบุคคลหมู่บ้านสามารถกำหนดให้สมาชิก/บริวารและผู้มาติดต่อกับสมาชิกท่านนั้นงดใช้สถานที่จอดรถยนต์ภายในหมู่บ้านได้ โดยให้นำไปจอดได้เฉพาะบริเวณลานจอดรถติดถนนนใหญ่รามอินทราด้านหน้าหมู่บ้าน หรือสถานที่ที่นิติบุคคลหมู่บ้านกำหนด โดยสมาชิกท่านนั้นต้องปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข

9. ห้ามไม่ให้รถยนต์ขนาดใหญ่น้ำหนักเกิน 2 ตันและ/หรือรถยนต์เกิน 6 ล้อขึ้นไปเข้ามาใช้ถนนภายในหมู่บ้าน ยกเว้นได้รับอนญาตจากนิติบุคคลหมู่บ้านเป็นครั้งคราวแล้วเท่านั้น หากบุคคลใดฝ่าฝืนต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายของถนนที่ชำรุด หรือความเสียหายอื่นใดที่เกิดขึ้นโดยรถคันนั้นๆทั้งหมด

10. ห้ามไม่ให้บุคคลใดนำสิ่งกีดขวางใดๆ มาวางบนถนนและทางเดินเท้าภายในบริเวณหมู่บ้านซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนกลาง ในลักษณะเป็นการจองพื้นที่เพื่อประโยชน์ส่วนตน หากผู้ใดฝ่าฝืนทางนิติบุคคลหมู่บ้านสามารถเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางนั้นออกไป โดยมิต้องแจ้งให้กับเจ้าของให้ทราบก่อน และขอสงวนสิทธิในการชดใช้ค่าเสียหายหากเกิดความเสียหายหรือสูญหาย โดยไม่มีเงื่อนไข

 หมายเหตุ : ระเบียบและข้อปฏิบัติต่างๆได้ถูกกำหนดขึ้นตามมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกหมู่บ้านนีโอ คลาสสิคโฮม รามอินทรา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน 2552 เพื่อความสงบสุขโดยส่วนรวมของพวกเราชาว Neo Classic Home ทุกคน จึงใคร่ขอความร่วมมือมายังสมาชิกหมู่บ้านทุกท่าน ช่วยปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้โดยเคร่งครัด และกรุณาช่วยกันคอยดูแลสอดส่องมิให้ผู้ใดกระทำการอันขัดกับระเบียบนี้ ซึ่งอาจกระทำการไปโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม หากพบเห็นกรุณาแจ้ง ผู้จัดการหมู่บ้านหรือประธานกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านโดยตรง