การตรวจสอบระบบความปลอดภัยอาคารเพื่อลดความเสี่ยงจากเพลิงไหม้ |
ที่มา thaipr.net วันที่ 26 สิงหาคม 2554
อาคารควรได้รับการตรวจสอบเพื่อลดความเสี่ยงกรณีเกิดเพลิงไหม้
เจ้าของอาคารต้องปรับปรุงระบบความปลอดภัยหากผลตรวจสอบพบความบกพร่อง
จากเหตุเพลิงไหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ในอาคารชุดพักอาศัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ(เลอ รัฟฟิเน่ ชั้น18 สุขุมวิท24 17 ส.ค.54) ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า อาคารสูงจะสามารถป้องกันการเกิดอัคคีภัยได้อย่างไร โจนส์ แลง ลาซาลล์ระบุว่า แม้จะไม่มีอาคารใดที่สามารถปลอดภัยจากการเกิดเพลิงไหม้ได้ 100% ตราบที่ภายในอาคารยังคงมีวัสดุสิ่งของที่สามารถติดไฟได้ แต่หากเจ้าของอาคารมีการปฏิบัติตามกฎหมายด้านการป้องกันอัคคีภัยและเข้าใจถึงสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงลงได้
นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ โจนส์ แลง ลาซาลล์ กล่าวว่า “สิ่งแรกที่จะสามารถลดความเสี่ยงหรือความเสียหายจากการเกิดอัคคีภัยได้ คือการที่เจ้าของอาคารจะต้องปฏิบัติตากฎหมายด้านความปลอดภัยในอาคาร ซึ่งกำหนดให้อาคารต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบที่ผ่านการรับรองคุณสมบัติ ผลจากการตรวจสอบจะระบุว่า เจ้าของอาคารจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงซ่อมแซมระบบการป้องกันอัคคีภัยหรือไม่อย่างไร และที่สำคัญคือเจ้าของอาคารจะต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หากผลการตรวจสอบพบจุดบกพร่องในระบบ”
การตรวจสอบอาคารยังมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อหรือเช่าคอนโดมิเนียมในโครงการเก่าหรืออาคารที่สร้างเสร็จแล้ว นางสุพินท์กล่าวว่า “ในการตัดสินใจจะเลือกซื้อหรือเช่าที่พักอาศัย ผู้ซื้อหรือผู้เช่าส่วนใหญ่จะพิจารณาเฉพาะทำเลที่ตั้ง คุณภาพการก่อสร้าง และการออกแบบเป็นสำคัญ แต่น้อยคนที่จะตรวจสอบว่า อาคารมีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ผู้ที่จะซื้อหรือเช่าควรขอสำเนารายงานผลการตรวจสอบอาคารจากเจ้าของ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ”
นายเด็กซ์เตอร์ นอร์วิลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ โจนส์ แลง ลาซาลล์กล่าวว่า “โดยทั่วไป อาคารที่มีการบริหารจัดการที่ดีจะมีความเสี่ยงต่ำในการเกิดขึ้นหรือได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ การตรวจสอบอาคารจะช่วยเพิ่มความมั่นใจได้มากขึ้นว่า อย่างน้อยที่สุด อาคารมีความปลอดภัยด้านอัคคีภัยตามมาตรฐานที่กำหนดโดยกฎหมาย หากเจ้าของมีการปรับปรุงจุดบกพร่องที่ตรวจพบ”
การตรวจสอบระดับความปลอดภัยของอาคารในส่วนที่เกี่ยวกับอัคคีภัย ครอบคลุมระบบทั้งหมดภายในอาคารในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยและการควบคุมเพลิง นับตั้งแต่ ช่องทางและบันไดหนีไฟ ป้ายสัญญาณบอกทางหนีไฟ ระบบพัดลมอัดความดันสำหรับบันไดหนีไฟ ไฟสำรองฉุกเฉิน ลิฟต์สำหรับพนักงานดับเพลิง อุปกรณ์ดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิง ระบบสปริงเกลอร์ และระบบสายล่อฟ้า การตรวจสอบเหล่านี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่า ระบบป้องกันอัคคีภัยทุกส่วนมีความพร้อมใช้งานและได้รับการซ่อมบำรุงรักษาที่ดีพอ การตรวจสอบยังครอบคลุมถึงระบบการบริหารจัดการความปลอดภัย ซึ่งรวมถึงแผนการป้องกันอัคคีภัยและการควบคุมเพลิง แผนการจัดการซ้อมหนีไฟ และแผนการตรวจสอบอาคารและความปลอดภัย
ในหลายๆ กรณี การขาดการบริหารจัดการและการดูแลที่ดี เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความสูญเสียและเสียหายจากอัคคีภัย ในขณะเดียวกัน การเกิดอัคคีภัยหลายครั้ง เกิดจากผู้อยู่อาศัยภายในอาคาร ทั้งนี้ พบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ในอาคารที่พักอาศัย เกิดจากไฟจากการหุงต้มอาคาร ไฟฟ้าลัดวงจร อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำความร้อน เช่น เตาไฟฟ้าหรือเครื่องทำน้ำอุ่น การสูบบุหรี่ รวมไปจนถึงการปล่อยให้เด็กเล่นไฟ ”การมีความรู้ความเข้าใจถึงสาเหตุต่างๆ ส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ จะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้ดีขึ้น” นายนอร์วิลล์กล่าว
“ทุกฝ่ายต้องเข้าใจว่า การป้องกันอัคคีภัยเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า กรรมการนิติบุคคลอาคารชุด รวมไปจนถึงผู้จัดการอาคาร จะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับป้องกันและรองรับกรณีเกิดเหตุเพลิงใหม้” นายเด็กซ์เตอร์สรุป
สิ่งควรรู้ ?
-
กฎหมายกำหนดให้อาคารต้องได้รับการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่มีใบอนุญาตปีละหนึ่งครั้ง
-
กฎหมายกำหนดให้อาคารต้องมีการจัดการซ้อมหนีไฟอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
-
อาคารสูงส่วนใหญ่ได้รับการก่อสร้างด้วยวัสดุที่ไม่ติดไฟ ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะจำกัดวงอยู่ในห้องหรือชั้นที่เป็นต้นเพลิง
-
ประตูบันได คือ ประตูหนีไฟ ซึ่งต้องปิดตลอดเวลาเพื่อป้องกันการลามของไฟหรือควันไฟ
-
เครื่องตรวจจับควันควรมีการตรวจสอบทุกปี และมีการทำความสะอาดภายนอกทุกๆ หกเดือนด้วยการดูดฝุ่นเบาๆ ส่วนเครื่องตรวจจับควันที่ใช้แบตเตอรี่ ควรเปลี่ยนแบตเตอรี่อย่างน้อยปีละครั้ง
-
อาคารต้องแสดงแผนผังของชั้นและช่องทางการอพยพหนีไฟให้เห็นชัดเจนในทุกๆ ชั้นของอาคาร
-
การใช้ระเบียงเป็นที่เก็บของ อาจเป็นอุปสรรคสำหรับการหนีไฟ
-
การใช้ลิฟต์ในการอพยพหนีไฟเป็นข้อห้ามโดยเด็ดขาด
-
การหนีไฟทางบันไดหนีไฟให้ลงชั้นล่างเท่านั้น การหนีขึ้นไปบนหลังคามีความเสี่ยงอันตรายสูงมาก ใช้ในกรณีที่ทางลงบันไดไม่สามารถใช้งานได้เท่านั้น
ที่มา http://www.thaipr.net
|