Home » คอนโด นิติบุคคลอาคารชุด » การอยู่อย่างปลอดภัยในคอนโดมิเนียม

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
การอยู่อย่างปลอดภัยในคอนโดมิเนียม

posttoday.com 02 พฤศจิกายน 2553
อยู่ปลอดภัยในคอนโด

โดย...โอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

          การจะอยู่อย่างปลอดภัยในคอนโดคงจะหวังพึ่งระบบ หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างเดียวไม่ได้ เพราะลำพังกล้องวงจรปิดที่มีเจ้าหน้าที่เพียง 1 คน หรือ 2 คนดูอยู่ ความผิดพลาดก็อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากระบบเองและจากเจ้าหน้าที่

          แต่ถ้าหากผู้อยู่อาศัยสามารถจดจำเพื่อนร่วมชั้นของตัวเองได้ หรือรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ก็สามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตา และสอดส่องเมื่อเห็นคนแปลกหน้า หรือสิ่งผิดปกติ ย่อมมีประสิทธิภาพมากกว่าตาเพียง 2 คู่ หรือกล้องเพียงไม่กี่ตัวอย่างแน่นอน

          อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนในคอนโดมองข้าม คือ การใช้คีย์การ์ดในการผ่านเข้า-ออกประตู ผมเชื่อว่าหลายครั้งที่หลายคนรู้สึกไม่พอใจที่เห็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนอยู่หน้าประตูแต่กลับไม่เปิดให้ กลายเป็นว่าเขาไม่ใส่ใจในหน้าที่ หรือไม่มีหัวใจในการบริการ

          แต่จริงๆ แล้ววิธีที่ถูกต้อง หรือที่ควรจะเป็นก็คือ ผู้อยู่อาศัยต้องใช้คีย์การ์ดเปิดประตูด้วยตัวเอง รวมทั้งไม่ปล่อยให้คนที่ไม่รู้จักเดินตามเข้ามา เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าเขาจะเป็นมิจฉาชีพหรือไม่

          รวมไปถึงขั้นตอนการเข้าตกแต่งห้อง ควรจะมีระบบควบคุมคนงานที่รอบคอบ ไม่เช่นนั้นก็อาจจะเป็นช่องโหว่ให้เกิดการโจรกรรมขึ้นได้

          เพลิงไหม้ก็เป็นอุบัติภัยอีกอย่างหนึ่งที่ควบคุมได้ถ้าเราทุกคนใส่ใจดูแล จะเห็นได้ว่าทุกห้องในคอนโดนั้นจะติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับเพลิงไหม้ แต่ถ้าในช่วงตกแต่งห้องเราไม่ได้ระวัง ทำให้อุปกรณ์นั้นถูกถอดไป หรือมีอะไรไปบัง ก็จะทำให้ใช้งานไม่ได้
รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเตาไฟฟ้า ที่หลายคนมองว่าปลอดภัยกว่าเตาแก๊ส และคอนโดส่วนใหญ่ก็กำหนดให้ผู้อยู่อาศัยต้องใช้เตาไฟฟ้าเท่านั้น แต่หากผู้ใช้เผอเรอลืมปิดเตา ก็อาจทำให้ไฟชอร์ตได้

          เรื่องสุดท้ายคือ การซ้อมหนีไฟที่ปกติทางนิติบุคคลอาคารชุดมักจะจัดให้ความรู้กับผู้อยู่อาศัย เรื่องอย่างนี้รู้ไว้ ซ้อมไว้ไม่เสียหลายนะครับ แม้จะมองว่าโอกาสที่จะเกิดมีเพียงหนึ่งในร้อย หรือคิดว่า “เราคงไม่โชคร้ายขนาดนั้น”

          แต่เชื่อเถอะครับว่าของอย่างนี้ถ้าไม่เคยมีการซักซ้อมมาก่อนเลย ต่อให้มีความรู้ด้านทฤษฎีมากมายขนาดไหน ถึงเวลาจริงๆ ความตกใจจะทำให้คุณนึกอะไรไม่ออกเลย

          ผมมีเรื่องของเจ้าของร่วมท่านหนึ่งที่แม้จะไปไหนมาไหนโดยอาศัยวีลแชร์ แต่เขาเองไม่เคยมองว่าเป็นอุปสรรค กลับเข้าร่วมกิจกรรมซ้อมหนีไฟด้วยทุกครั้ง เรียนรู้การแบ่งทีมในการดูแลกันและกัน ทั้งยังทดลองใช้อุปกรณ์ดับเพลิงในสถานการณ์จำลองอีกด้วย


          ความตั้งใจของเจ้าของร่วมท่านนี้ก็เพียงเพราะเขาเชื่อว่าเมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้น เขาจะได้ไม่เป็นภาระของคนอื่น แต่ที่มากไปกว่านั้น ผมเชื่อว่าเขาจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับใครอีกหลายคน และเป็นพลังที่สำคัญให้เกิด “ชุมชนน่าอยู่” อย่างแท้จริงครับ

 

ที่มา   http://www.posttoday.com/บ้าน-คอนโด/อสังหาฯเสวนา/57948/อยู่ปลอดภัยในคอนโด