Home » อพาร์ทเมนท์ สำนักงาน พื้นที่เช่า » การออกแบบอพาร์ตเมนต์ขนาดเล็ก

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
การออกแบบอพาร์ตเมนต์ขนาดเล็ก

  

dailynews.co.th  วันเสาร์ ที่ 25 ธันวาคม 2553
ข้อควรรู้ในการออกแบบอพาร์ตเมนต์ขนาดเล็ก

ปัจจุบันมีการขยายตัวของประชากรในพื้นที่เขตธุรกิจในเมืองเป็นอย่างมากส่งผลให้เกิดความต้องการที่พักอาศัยในเมือง เพื่อความสะดวกในการเดินทาง ดังนั้นจึงมีการทำอพาร์ตเมนต์ หอพักขนาดเล็กกระจายตัวตามพื้นที่ต่าง ๆ จำนวนมากส่งผลให้ผู้ที่มีบ้านเดิม มีขนาด ตั้งแต่ 70-200 ตร.ว. อาจอยากเปลี่ยนเป็นอพาร์ตเมนต์เพื่อเป็นรายรับประจำในอนาคตโดยสามารถทำได้โดยมีแนวคิดเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
    

1. การเลือกทำเลที่ตั้งโครงการ ควรอยู่ในบริเวณที่มีพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นหรืออยู่ใกล้ทำเลชุมชน เช่น หลังสถานศึกษา, สำนักงาน, ชุมชนที่พักอาศัยหนาแน่น ถนนด้านหน้าโครงการควรจะมีความกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร เมื่อวัดจากริมรั้วด้านหนึ่งถึงอีกด้านตรง ข้าม
    
2. ขนาดและรูปทรงที่ดินควรเป็นสี่เหลี่ยม ขนาดที่ดินที่เล็กที่สุด ไม่ควรต่ำกว่า 70 ตร.ว. จะสามารถวางโครงการให้ใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
    
3. จำนวนห้องพักควรอยู่ระหว่าง 25-75 ห้องพัก พื้นที่อาคารไม่เกิน 4,000 ตร.ม. สำหรับโครงการอพาร์ตเมนต์ขนาดเล็ก หากมีขนาดใหญ่กว่านี้ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับอาคารขนาดใหญ่ จะส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายและเวลาเพิ่มขึ้น
    
4. ห้องพักเมื่อรวมพื้นที่ระเบียงและห้องน้ำแล้ว ไม่ควรมีขนาดเล็กกว่า 20 ตร.ม. และมีหน้าต่างสามารถระบายอากาศได้
    
5. จำนวนชั้นหากมีความสูงเกิน 5 ชั้นขึ้นไปจะต้องมีลิฟต์ช่วยในระบบสัญจรภายในอาคาร ราคาเฉลี่ยสำหรับลิฟต์โดยสาร 6-8 คน ความสูง 5-8 ชั้น ราคาประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่องบประมาณการก่อสร้าง จึงควรตัดสินใจให้รอบคอบว่าจะทำสูงเกิน 5 ชั้นหรือไม่
    
6. ควรมีบันไดหลักกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 ม. และมีบันไดหนีไฟกว้างไม่น้อยกว่า 0.90 ม. โดยสามารถมีช่องเปิดระบายอากาศได้ไม่น้อยกว่า 1.4 ตร.ม. สำหรับอาคารที่สูงเกิน 3 ชั้นขึ้นไป หรือมีพื้นที่เกิน 2,000 ตร.ม.
    
7. การจัดที่จอดรถตามกฎหมายควบคุมอาคารนั้น หากอาคารสูงไม่เกิน 5 ชั้น และมีพื้นที่ปลูกสร้างอาคารรวมไม่เกิน 2,000 ตร.ม. ก็ไม่ต้องจัดให้มีพื้นที่จอดรถตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดไว้ว่าในเขต กทม. ต้องมีที่จอดรถ 1 คันต่อพื้นที่ก่อสร้าง 120 ตร.ม. หรือ    1 คันต่อพื้นที่ก่อสร้างทุก 240 ตร.ม. สำหรับต่างจังหวัด แต่อย่างไรก็ตามควรคำนึงถึงการจัดที่จอดรถให้เพียงพอต่อการใช้งาน โดยมากอพาร์ตเมนต์ขนาดเล็กราคาค่าเช่าเฉลี่ย 3,000-5,000 บาท ในแหล่งชุมชนผู้อยู่อาศัยมักใช้จักรยานยนต์มากกว่ารถยนต์ และควรจัดที่จอดรถให้เปิดโล่งและมองเห็นได้ง่ายเพื่อป้องกันเหตุอาชญากรรม
    
8. การออกแบบหน้าต่างช่องเปิดอาคาร ต้องอยู่ห่างจากแนวเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 3 ม. สำหรับอาคารสูงเกิน 3 ชั้น แต่ไม่เกิน 8 ชั้น ช่องเปิดอาคารหมายความว่า ช่องใด ๆ ก็ตามที่แสงสามารถส่องผ่านได้ นับเป็นช่องเปิด ดังนั้นกลาสบล็อก (glassblock) หรือช่องลมและผนังระเบียงจึงเป็นช่องเปิด
    
9. ระยะร่นด้านข้างที่เป็นผนังทึบ หากอาคารมีพื้นที่รวมไม่เกิน 1,000 ตร.ม. และสูงไม่เกิน 5 ชั้น สามารถถอยร่นห่างจากเขตที่ดิน 1 ม. หากอาคารสูงเกิน 5 ชั้น แต่ไม่เกิน 8 ชั้น ผนังทึบต้องถอยร่นจากแนวเขตที่ดิน 2 ม.
    
10. การออกแบบแนวทางเดินภายในอาคาร ควรเป็นทางเดินตรงกลางและมีห้องอยู่ทั้ง 2 ข้าง เพื่อประหยัดพื้นที่ทางเดิน (double load corridor) และทางเดินภายในอาคารควรกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 ม. และสามารถระบายอากาศได้
    
11. ควรมีระยะร่นด้านหน้าอาคารเพื่อเปิดมุมมองและทัศนวิสัย (cone of vision) ให้กับอาคารทำให้อาคารดูสง่างาม น่าเข้าพัก
    
12. การวางกล้องวงจรปิด (หากมี) ควรวางด้านตรงข้ามกันในแต่ละฝั่งทางเดิน เพื่อให้สามารถมองเห็นหน้าบุคคลที่สัญจรได้เพื่อความปลอดภัย ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก เราอาจติดตั้งกล้องวงจรปิดที่อาคาร แล้วไปเปิดดูจากที่อื่น ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อสามารถตรวจสอบความปลอดภัยได้ตลอดเวลา
    
13. หากพื้นที่ก่อสร้างอยู่ห่างกับอาคารข้างเคียงน้อยกว่า 10 ม. ควรใช้เสาเข็มระบบเจาะ เพื่อป้องกันปัญหากับเพื่อนบ้านและความเสียหายต่ออาคารใกล้เคียง และควรมีมาตรการป้องกันแรงสั่นสะเทือน เช่น ขุดคูดินรอบที่ดินที่ทำการปลูกสร้างลึกประมาณ 2 เมตร หรือทำผนังกันดิน
    
14. ควรใช้ถังเก็บน้ำบนหลังคาอาคาร โดยจะมีถังเก็บน้ำบนดิน เพื่อกักเก็บน้ำจากการประปาก่อน จากนั้นใช้ปั๊มน้ำสูบขึ้นไปเก็บที่ถังเก็บน้ำบนหลังคาเพื่อปล่อยน้ำลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลก เพื่อจะช่วยประหยัดค่าไฟในการใช้เครื่องสูบน้ำ
    
15. หมั่นตรวจสอบระบบป้องกันเพลิงไหม้อย่างสม่ำเสมอ ควรมีอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนและระบบสัญญาณเตือน เหตุเพลิงไหม้
    
16. ควรคำนึงถึงการออกแบบให้สอดคล้องกับอาคารบริเวณใกล้เคียงและไม่ลิดรอนสิทธิของที่ดินข้างเคียงและดำเนินตามกฎหมายควบคุมอาคารอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง รวมถึงจริย ธรรมในการออกแบบและดำเนินการเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ โดยเคารพสภาพแวดล้อมและผู้อยู่อาศัยเดิม.


ภาณุวัฒน์ สินธวัชต์
ณัฐพล ปิยะตันติ
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

ที่มา   http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=category&categoryId=494