Home » หลักการบัญชี และภาษี » ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา

 

เรื่อง : อชิระ ประดับกุล

  อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

 

ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา

                ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาถือเป็นค่าใช้จ่ายประเภทหนึ่งทางบัญชีและทางภาษีอากรเพื่อคำนวณหากำไรสุทธิของกิจการ โดยค่าใช้จ่ายที่ว่านี้มิได้เป็นค่าใช้จ่ายที่มีการจ่ายเป็นตัวเงินออกไปแต่อย่างใดเหมือนกับพวก ค่าเช่า เงินเดือน และ ค่านายหน้า เป็นต้น หากแต่เป็นค่าใช้จ่ายที่ประมาณการณ์ขึ้นมาสำหรับสินทรัพย์ที่มีอายุการใช้งานและให้ประโยชน์แก่กิจการเกิน 1 ปี เช่น รถยนต์, อุปกรณ์สำนักงานต่างๆ (อาทิ คอมพิวเตอร์, เครื่องถ่ายเอกสาร, เครื่องโทรสาร เป็นต้น), เครื่องตกแต่งสำนักงาน (โต๊ะ, เก้าอี้, โซฟา. ชุดรับแขก เป็นต้น) โดยกิจการไม่สามารถที่จะนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมดในปีที่มีการซื้อได้ในคราวเดียว คือพูดง่ายๆ จะต้องมีการเฉลี่ยหักเป็นค่าใช้จ่ายออกไปแต่ละปี ซึ่งหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณเฉลี่ยก็แตกต่างกันออกไปในสินทรัพย์แต่ละประเภท...

                จะว่าไปแล้วผู้จัดทำบัญชีของกิจการทราบเรื่องเหล่านี้ดีอยู่แล้ว ผมขออนุญาตเล่าเรื่องนี้เฉพาะเจาะจงไปยังท่านผู้อ่านที่เป็นเจ้าของกิจการและมิได้ศึกษามาทางบัญชีก็แล้วกัน เหมือนเป็นการทำความรู้จักในเบื้องต้นส่วนเรื่องของหลักเกณฑ์ที่ละเอียดซับซ้อน ผู้จัดทำบัญชีที่เคารพของทุกท่านจะทราบดีอยู่แล้วกระมัง

                เราลองมาดูข้อมูลเบื้องต้นที่ผมเองคิดว่าผู้ประกอบการที่เป็นเถ้าแก่อย่างคุณควรทราบกันดีกว่าครับเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้

 

เงื่อนไขการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา (บางส่วนจากประมวลรัษฎากร)

                - ทรัพย์สินทุกประเภทของกิจการซึ่งโดยสภาพของทรัพย์สินนั้นสึกหรอเสื่อมราคาได้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลย่อมนำมาหักค่าสึกหรอค่าเสื่อมราคาเพื่อถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีได้ นอกจากที่ดินและสินค้ากฎหมายห้ามมิให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา

                ข้อสังเกต จากเงื่อนไขข้อแรกนี่ก็จะเห็นว่าที่ดินที่ถึงแม้จะให้ประโยชน์แก่กิจการได้เกิน 1 ปี ก็ไม่สามารถนำมาคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ รวมถึงสินค้าของกิจการ ดังนั้น หากกิจการของคุณขายสินค้าประเภทเครื่องใช้สำนักงาน การคิดค่าเสื่อมราคาก็จะคิดได้เพียงเครื่องใช้สำนักงานที่ใช้ในการดำเนินงานเท่านั้นโดยไม่รวมถึงเครื่องใช้สำนักงานของกิจการที่ไว้จำหน่ายเพราะถือเป็นสินค้า

                - ทรัพย์สินประเภทรถยนต์โยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน หรือรถยนต์นั่ง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1,000,000 บาท สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เกิน 1,000,000 บาท จะนำมาหักไม่ได้

               ข้อสังเกต รถยนต์ที่มีที่นั่งส่วนบุคคลในที่นี่ถ้าจะว่ากันแบบชาวบ้านๆก็คือรถเก๋งนั่นละครับ หากกิจการมีการซื้อในนามกิจการ ไม่ว่าจะซื้อด้วยราคาที่สูกว่า 1 ล้านบาทเพียงใดก็ตาม (เช่น 5 ล้าน, 10 ล้าน) ก็สามารถคิดคำนวณเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้สูงสุด 1ล้านบาท โดยคิดให้คิดเฉลี่ยเพียงปีละ 20% (อัตราตามกฎหมาย) เช่น ซื้อรถยนต์เมื่อวันต้นปี ราคา 1,500,000 บาท หากคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาปีแรกจะเป็นดังนี้

                ค่าเสื่อมราคาของปี = 1,000,000 x 20% = 200,000 บาท

เพราะฉะนั้นหากคิดที่จะต้องซื้อรถยนต์ไว้ใช้ในกิจการจะด้วยสาเหตุก็ตามถ้าไม่จำเป็นก็อย่าซื้อรถที่มีราคาเกิน 1,000,000 บาทแล้วกันครับในความเห็นของผมเพราะจะเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุเพราะส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทนั้นไม่สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้

                - ทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อหรือซื้อขายเงินผ่อน ให้ถือมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินนั้นตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขาย เงินผ่อนและให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมูลค่าต้นทุนดังกล่าว แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชีจะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อหรือราคาที่ต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลานั้น ในกรณีที่ได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือราคาตามสัญญาครบถ้วนแล้วโดยทรัพย์สินดังกล่าวยังคงมีมูลค่าต้นทุนหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวิธีการดังกล่าวข้างต้นเหลืออยู่ก็ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่นั้นได้ต่อไป

                ข้อสังเกต ข้อนี้เขาบอกว่าหากกิจการมีการคำควณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาออกมาแล้วสำหรับทรัพย์สินประเภทเงินผ่อน จะนำค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่คำนวณได้มาหักได้ไม่เกินจำนวนเงินค่างวดที่คุณส่งในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ เช่น หากคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ทั้งสิ้น 45,000 บาท แต่ละในปีเดียวกันค่างวดที่คุณส่งไปทั้งสิ้นรวมกันได้เพียง 30,000 บาท กิจการก็สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้เพียง 30,000 บาท เท่านั้น ทั้งนี้เมื่อมีการผ่อนชำระหมดแล้วมูลค่าที่เหลือของทรัพย์สินยังสามารถนำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ต่อไป แต่ถ้าไม่อยากยุ่งยากมากนักในการคำนวณ ผมว่าก็ซื้อมันเงินสดนั่นละครับ เห็นใจคนทำบัญชีเขาหน่อยจะได้ไม่ปวดหัวมาก

                -  เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 25 40 กรมสรรพากรได้ออกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ฉบับที่ 315 ซึ่งเกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนไว้ดังต่อไปนี้

                - มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเฉพาะส่วนที่เกินคันละ 1 ล้านบาท (อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น)

                - ค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเฉพาะส่วนที่เกินคันละ 36,000 บาทต่อเดือนในกรณีที่เช่าเป็นรายเดือนหรือรายปี หรือค่าเช่าส่วนที่เกินคันละ 1,200 บาท ต่อวันในกรณีที่เช่าเป็นรายวัน เศษของเดือนให้คิดเป็นวัน หากเช่าไม่ถึง 1 วัน ให้คำนวณค่าเช่าตามส่วนของระยะเวลาที่เช่า ทั้งนี้โดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

                ข้อสังเกต อันนี้ไม่เกี่ยวข้องกับค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาโดยตรงแต่เป็นเรื่องของค่าเช่ารถยนต์ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนแต่ขอกล่าวเสริมสักนิดว่าจากกฎหมายดังกล่าวสรุปได้ว่ากิจการจะนำมาค่าเช่ารถยนต์มาหักเป็นรายจ่ายได้สูงสุดต่อเดือน 36,000 บาทถ้าคิดต่อวันก็ได้สูงสุดแค่ 1,200 บาท ดังนั้นหากกิจการจ่ายค่าเช่ารถยนต์ดังกล่าวเกินอัตราที่กำหนดแม้นจะมีหลักฐานการจ่ายเงินสมบูรณ์เพียงใดส่วนที่เกินนั้นก็ห้ามนำมาหักเป็นค่าใช้จ่าย นั่นหมายถึงคุณก็จะสิ้นเปลืองไปโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วยประการทั้งปวง

                และกรณีดังกล่าวข้างต้นไม่ใช้บังคับกับรายจ่ายที่เกิดจากซื้อหรือการเช่าซื้อทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรถสามิตในกรณีที่

                ก. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์มีรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อเป็นสินค้า หรือ

                ข. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์มีรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อการให้เช่าเฉพาะมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอกและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

นอกจากนี้ไม่ใช้บังคับกับรายจ่ายที่เป็นมูลค่าต้นทุนหรือค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิตที่เกิดจากการซื้อ การเช่าซื้อหรือการเช่าที่ได้ทำสัญญาก่อนวันที่ 29 พฤษภาคม 2539

                และเราจะมาทิ้งท้ายกันด้วยหลักเกณฑ์สำหรับการคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาบางประการกันครับ

 

หลักเกณฑ์และวิธีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา(บางประการ)

                -เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาโดยใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปและอัตราที่จะหักอย่างใดแล้วให้ใช้วิธีทางบัญชีและอัตรานั้นตลอดไปจะเปลี่ยนแปลงได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย ในกรณีที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงได้ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัตินั้น

                -การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ให้คำนวณหักตามระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีไม่เต็ม 12 เดือนให้เฉลี่ยหักตามส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

                -การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินให้คำนวณหักตามระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเป็นรายวัน

                -กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา โดยใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปซึ่งมีอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาไม่เท่ากันในแต่ละปี ระหว่างอายุการใช้ทรัพย์สิน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวิธีนั้นในบางปีเกินอัตราที่กำหนดข้างต้นก็ได้แต่จำนวนปีอายุการใช้ของทรัพย์สินเพื่อการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต้องไม่น้อยกว่า 100 หาร ด้วยจำนวนร้อยละที่กำหนดข้างต้น

                -ถ้าการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามวิธารทางบัญชี ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลคงใช้อยู่หักต่ำกว่าอัตราข้างต้นก็ให้หักเพียงเท่าอัตราตามวิธีการทางบัญชี ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้อยู่นั้น จะเปลี่ยนแปลงได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย ในกรณีที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงได้ให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัติ

                ส่วนเรื่องของอัตราการคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่ผมกล่าวไว้ในตอนต้นว่ามีความแตกต่างกันนั้นคุณอาจจะต้องศึกษาหรือสอบถามเพิ่มเติมกับผู้จัดทำบัญชีของคุณเพราะถ้าจะสาธยายในที่นี้คงไม่หมดแน่กระมัง  อัตราการคิดคำนวณนั้นโดยสรุปคร่าวๆมีตั้งแต่  5% (สำหรับอาคารถาวร), 100% (อาคารชั่วคราว) และ 20% (ทรัพย์สินทั่วไปเช่น เครื่องใช้สำนักงาน) แต่ทั้งนี้ยังมีรายละเอียดที่แตกแขนงออกไปอีกมาก ถ้าอยากศึกษาอย่างจริงจัง คงต้องสอบถามจากผู้จัดทำบัญชีหรือเข้าไปที่ www.rd.go.th หรือส่งข้อสงสัยของคุณมาที่  อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

 

ที่มา http://www.smethailandclub.com