Home » หลักการบัญชี และภาษี » หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าซ่อมบ้าน (ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2554,2555 )

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าซ่อมบ้าน (ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2554,2555 )

ซ่อมบ้านลดหย่อนภาษี

กฎหมายรอบรั้ว dailynews.co.th วันที่ 17 มีนาคม 2555

          สืบเนื่องจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการทางภาษี เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ กรณีการหักลดหย่อนค่าซ่อมบ้าน ซึ่งเป็นมาตรการภาษี โดยมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหักลดหย่อนค่าซ่อมบ้าน ในแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 แล้วแต่กรณี ดังนี้

      1. เป็นการยกเว้นเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซม หรือค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยที่เป็นอาคาร หรือที่อยู่ในเขตอาคาร หรือห้องชุดในอาคารชุด หรือทรัพย์สินที่มีการประกอบติดตั้งติดกับตัวอาคาร หรือในเขตอาคาร หรือห้องชุดในอาคารชุด ตามความเป็นจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 100,000 บาท ได้แก่ (1) ค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร เช่น ค่าสีทาบ้าน ห้องชุดในอาคารชุด หรือตึกแถว ค่ากระเบื้อง ค่าฝ้าเพดาน ค่าหลังคา ค่าอิฐ หิน ปูน ทราย ที่ใช้ในการซ่อมแซม และค่าแรงในการซ่อมแซม (2) ค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่มีการประกอบติดตั้งติดกับตัวอาคารหรือห้องชุด เช่น ค่าซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์  หรือ(3) ค่าซ่อมแซม หรือค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่มีการประกอบติดตั้งติดอยู่ในเขตอาคาร เช่น ค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมรั้ว ประตูรั้ว กำแพง โรงรถ สระว่ายน้ำ บ่อเลี้ยงปลา รวมทั้งค่าแรง

     2. ต้องเป็นการซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม  2555 และอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย

     3. กรณีผู้มีเงินได้จ่ายค่าซ่อมแซม หรือค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยจำนวนหนึ่งแห่ง หรือเกินกว่าหนึ่งแห่ง ให้ได้รับสิทธิหักลดหย่อนภาษีสำหรับค่าซ่อมแซมทรัพย์สินนั้นทุกแห่งตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันแล้วไม่เกิน 100,000 บาท

    4. ผู้มีเงินได้จะต้องมีหลักฐาน ดังนี้ (1) หลักฐานที่แสดงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย หรือหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้เช่าอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย หรือหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยนั้นเป็นที่อยู่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการหรือใช้ประโยชน์อื่น (2) หลักฐานเอกสารการจ่ายเงินค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่แสดงตัวผู้รับเงินและผู้จ่ายเงิน วัน เดือน ปี ที่จ่าย รายการที่จ่าย จำนวนเงินที่จ่าย และลายมือชื่อของผู้รับเงิน

    5. ผู้มีเงินได้ต้องใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปีที่ได้จ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซม โดยให้ใช้สิทธิได้ในปีภาษี 2554 และปีภาษี 2555 และหากผู้มีเงินได้จ่ายเงินค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินดังกล่าว ทั้งสองปีภาษี ให้ได้รับลดหย่อนภาษีตามที่ได้จ่ายจริงในแต่ละปีภาษีแต่รวมกันสองปีภาษีแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท


       หากแอบอ้าง โดยการแสดงเอกสารรายจ่ายเท็จ ต้องเสียค่าปรับ  1 เท่าของเงินภาษี พร้อมเบี้ยปรับอีก 1.5% ต่อเดือน กรณีมีการออกใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีปลอม จะมีโทษทางอาญาเพิ่มอีก คือโทษปรับ 2,000 บาท ต่อใบเสร็จ 1 ใบ และโทษจำคุก 3 เดือน ถึง 7 ปี นะครับ.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/950/17473