Home » แฟ้มข่าว อสังหาริมทรัพย์ » ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยปี 56 ต่างจังหวัด

การบริหาร/ความรู้ทั่วไป

Web Design by Softbiz+


ว็บนี้ สร้างด้วย Joomla! 1.5 โดย ทีมงานซอฟท์บิส+ update11.11.2014

 
ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยปี 56 ต่างจังหวัด

แนะอสังหาฯ ตจว.ปรับตัวสู้รายใหญ่ เร่งปั้นแบรนด์รับเปิดเออีซี

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์  13 พฤศจิกายน 2555

        กูรูด้านการตลาดแนะอสังหาฯ ตจว. เร่งสร้างแบรนด์ รักษาฐานลูกค้า รับมือการแข่งขันจากการบุกตลาดของอสังหาฯ เมืองหลวง และยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ หลังเปิด AEC ด้าน “นักวิชาการอสังหาฯ” ชี้ตลาดที่อยู่อาศัยปี 55 ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ระบุปัจจัยบวกอุตฯ ย้ายฐานผลิตโรงงาน-เอกชน แห่ลงทุนภาคอีสานดันตลาดที่อยู่อาศัยขยายตัวสูง ด้านเอกชนเชื่อ AEC ตัวแปรดันอสังหาฯ ต่างจังหวัดรุ่ง ฟากนายกอสังหาฯ ภูเก็ต ระบุการท่องเที่ยวฟื้น นักท่องเที่ยวทะลัก 8.4 ล้านรายต่อปี หนุนรายได้ภาคบริการโตกระตุ้นดีมานด์คอนโดภูเก็ตพุ่งปรี๊ด
       
        
       เวทีสัมมนา THCA - เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THCA) จัดงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี ในหัวข้อ “ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยปี 56 @ ตจว.” โดยมีผู้ร่วมสัมมนาทั้งนักวิชาการ ตัวแทนผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน และตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ภูธรร่วมเป็นวิทยากร โดย นายธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด กล่าวว่า จากการพูดคุยกับผู้บริหารห้างค้าปลีก และผู้ประกอบการอสังหาฯ รายใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทราบทิศทางการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และแนวโน้มการแข่งขันในปี 2556 จะมีทิศทางอย่างไร
       
       ทั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่า ปัจจุบันตลาดอสังหาฯ ในภูมิภาค หรือต่างจังหวัดมีการขยายตัวรวดเร็วมากกว่าตลาด กทม. และคาดว่าในอนาคตจะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้บริหารกลุ่มห้างค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศ พบว่าในปีที่ผ่านมา ได้มีการขยายการลงทุน และเปิดตัวห้างสรรพสินค้าในจังหวัดชายแดน และภาคอีสานหลายๆ แห่ง รวมทั้งห้างสรรพสินค้า และร้านค้าวัสดุก่อสร้างครอบคลุมพื้นที่ทุกภูมิภาค เพื่อรองรับการขยายตัวด้านที่อยู่อาศัยหลังหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) การขยายการลงทุนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ในอนาคตจะมีความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในพื้นที่เมืองชายแดนเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับงานก่อสร้างในภาคอุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวตามตลาดแรงงานในอนาคต
       
       อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของตลาดอสังหาฯ ในอนาคตนั้น จะส่งผลให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นต้องประสบกับภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันจากกลุ่มทุนในประเทศ และทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ จะเข้ามาตีตลาดผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งเสียเปรียบด้านสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้น วิธีหนึ่งเดียวที่จะสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้ประกอบการข้ามชาติ คือ การรักษากลุ่มลูกค้าเดิมด้วยการสร้างแบรนด์ และการสร้างความภักดีในแบรนด์ พร้อมๆ กับการใช้ข้อได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งเข้าใจความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่ดีมากกว่า
       
        

“กูรู” ฟันธงอสังหาฯ ฟื้นตัวเร็ว
      
       นายมานพ พงศทัต ศาสตราภิชาน อาจารย์พิเศษ ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงท้ายปีรวดเร็วกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยตนเคยคาดการณ์ว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2556 ซึ่งจากการฟื้นตัวดังกล่าวส่งผลให้ปี 2556 จะมียอดจดทะเบียนที่อยู่อาศัยสร้างโดยผู้ประกอบการเฉพาะพื้นที่ กทม.มากว่า 80,000 ยูนิต และมียอดจดทะเบียนรวมทั่วประเทศมากกว่า 2 แสนยูนิต
        
       ทั้งนี้ ในส่วนของสถาบันการเงิน คาดว่าในปีหน้ายอดขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีนี้กว่า 15% สะท้อนให้เห็นว่าตลาดรวมอสังหาฯ ในปีหน้าจะมีการขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมราคาระดับกลาง สำหรับตลาดบ้านจัดสรรในต่างจังหวัดการขยายตัวจะสูงมาก โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว และมีการลงทุนของเอกชนเพื่อรองรับการแข่งขันจากการเปิด AEC
       

THCA มั่นใจตลาดรับสร้างบ้านคึกคัก
       
       นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THCA) กล่าวว่า ตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลช่วงไตรมาส 1-3 ของปี 2555 นี้ เผชิญกับปัจจัยลบจากความกังวลปัญหาน้ำท่วมของผู้บริโภค โดยเฉพาะกระแสข่าวน้ำท่วมที่มีต่อเนื่อง แต่หลังจากทุกภาคส่วนมั่นใจว่าในปีนี้จะไม่เกิดน้ำท่วมเช่นปีที่ผ่านมา ทำให้ตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 3 กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง และเชื่อว่าตลาดรับสร้างบ้านปีนี้จะยังขยายตัวได้มากกว่าปีก่อน
       
       อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดรับสร้างบ้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยรวมจะชะลอตัวลง แต่ในส่วนของตลาดรับสร้างบ้านต่างจังหวัดกลับมีการขยายตัวจากปีที่แล้ว โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในภาคอีสาน และภาคใต้ เพราะไม่ได้รับปัจจัยลบดังกล่าวข้างต้น ในส่วนของปัจจัยบวกที่ทำให้ตลาดรับสร้างบ้านในภูมิภาคเติบโต เนื่องจากมีการขยายตัวด้านการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชน เพื่อรองรับการเปิด AEC และผลผลิตทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้น ทำให้ประชาชนมีรายได้และกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการสร้างบ้าน หรือที่อยู่อาศัยตามมา
       
       รวมทั้งผู้ประกอบการรับสร้างบ้านทั้งรายเดิม และรายใหม่มีการขยายตลาดออกไปในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเกิดจากแรงผลักดัน และความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการกับสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ทำให้ปัจจุบัน มีบริษัทรับสร้างบ้านที่ได้มาตรฐานสามารถให้บริการสร้างบ้านได้ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 60 จังหวัด หรือเกือบทั่วประเทศไทย จากเดิมเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วผู้ประกอบการสามารถให้บริการได้เฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑลเท่านั้น
       

อสังหาฯ ภูเก็ตฟื้นตัวตามแรงท่องเที่ยว
       
       นายวีรพล จงเจริญใจ อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การขยายตัวของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งย้ายฐานการผลิตหนีปัญหาน้ำท่วมจากพื้นที่ภาคกลาง ไปตั้งโรงงานในภาคอีสาน ส่งผลให้เกิดดีมานด์ด้านที่อยู่อาศัยจำนวนมาก โดยเฉพาะดีมานด์ที่เกิดจากกลุ่มบุคลากรของโรงงานต่างๆ นอกจากนี้ ปัจจัยบวกจากการอนุมัติโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการก่อสร้างถนน และโครงการต่างๆ เข้าสู่ภาคอีสานซึ่งมีวงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัจจัยลบที่ยังเป็นอุปสรรคฉุดให้ตลาดยังชะลอตัวคือ ปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรป และวิกฤตการคลังของสหรัฐอเมริกา ปัญหาค่าแรงงานปรับตัวสูงขึ้น และการเก็งกำไร ซึ่งอาจจะกระทบไปถึงการชะลอตัวของตลาดในปีหน้าได้
       
       นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดอสังหาฯ ภูเก็ตชะลอตัวตามธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักทางเศรษฐกิจของภูเก็ต แต่หลังจากธุรกิจท่องเที่ยวฟื้น และเติบโตอย่างมาก ส่งผลต่อการขยายตัวของตลาดอสังหาฯ ในจังหวัดภูเก็ตกลับมาขยายตัวเช่นกันในปีนี้ โดยพบว่า มียอดนักท่องเที่ยวขยายตัวสูงถึง 8.4 ล้านคนต่อปี ส่งผลให้ธุรกิจบริการ และตลาดอสังหาฯ ระดับกลางมีการขยายตัวสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุด หรือคอนโดมิเนียม และยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เพราะกลุ่มลูกค้าหลักเป็นกลุ่มผู้ซื้อในตลาดระดับกลางที่อยู่ในภาคธุรกิจบริการ
       
       ดังนั้น ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัดปี 2556 นั้น ภาคธุรกิจอสังหาฯ และรับสร้างบ้านเห็นสอดคล้องกันว่า มีแนวโน้มและทิศทางการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนติดกับประเทศลาว กัมพูชา พม่า และจังหวัดที่ไม่มีความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม เช่น จังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการเข้าไปลงทุนของภาคอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ข้าว ก็เป็นปัจจัยที่เอื้อให้เศรษฐกิจในต่างจังหวัดขยายตัว เพราะประชาชนมีรายได้สูงขึ้น การจับจ่ายใช้สอยก็สูงขึ้นตามกัน

ที่มา  http://www.manager.co.th/stockmarket/viewnews.aspx?NewsID=9550000138481